สกศ. ถกอัปเดตยุทธศาสตร์พัฒนาเด็กปฐมวัยฝ่าวิกฤตโควิด-๑๙ ชงเสนอ วิษณุ เครืองาม ปรับยืดหยุ่น-วางมาตรการเร่งด่วน

image

     วันนี้ (28 มิถุนายน 2564) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัย ครั้งที่ 1/2564  ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)

    การประชุมร่วมกัน สกศ. และผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมทั้ง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) อย่างเข้มงวดคู่ขนานในรูปแบบวีดิทัศน์ทางไกล (VDO Conference)

     

     ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ภายใต้กรอบการดำเนืนงานหลักที่ประกอบด้วย พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ และล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 - 2570 ซึ่งเป็นความท้าทายในการสร้างกลไกการบูรณาการการขับเคลื่อนงานปฐมวัยร่วมกันของพันธมิตรหลัก 4 กระทรวงทั้ง ศธ.-สธ.-มท.-พม. โดย สกศ. ทำหน้าที่ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดความสอดคล้องกันที่มีกรอบแนวทางและเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพการบริการ ดูแล พัฒนา และจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล

     ความกังวลประเด็นหนึ่งจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-๑๙ ที่ประชุมชี้เป้าไปที่ปัญหาพัฒนาการด้านการเรียนรู้  และการไม่ได้ไปเรียน ทำให้การเรียนรู้ล่าช้า และความยุ่งยากลำบากที่จะต้องหากิจกรรมที่เหมาะสมกับเด็กเล็ก ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดมาตรการระยะเร่งด่วน

 

     ในการปรับบทบาทของพ่อแม่ผู้ปกครองมาเป็นครูสอนเด็กเล็กในการฝึกทักษะทางด้านการเรียนรู้ การมีพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กและครอบครัว และต้องยอมรับว่าส่งผลกระทบอย่างสูงกับเด็กในช่วงรอยต่อการแพร่ระบาดโรคโควิด-๑๙ เพราะไม่มีเวลาในการเตรียมความพร้อมเท่าที่ควร และทำให้เด็กปรับตัวได้ยากมากขึ้นกับการเรียนในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องปรับตัวตามวิถีใหม่การเรียนรู้ (New Normal) อย่างเข้าใจและเตรียมความพร้อมเพื่อให้สามารถส่งเสริมการพัฒนาปฐมวัยอย่างเต็มประสิทธิภาพ

      ที่ประชุมหารือในวงกว้างถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 - 2570 ที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นและสอดรับผลกระทบโควิด-๑๙ ปัจจุบันที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาปฐมวัย โดยใช้กลไกขับเคลื่อนสำคัญคือ คณะอนุกรรมการ ฯ ภายใต้ พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 รวม 6 คณะ ประกอบด้วย
1) คณะอนุ ฯ บูรณาการการพัฒนาเด็กปฐมวัย (ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ ประธานอนุ ฯ)
2) คณะอนุ ฯ พัฒนาระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลเด็กปฐมวัย (รองศาสตราจารย์ ดร.ธีรณี อจลากุล ประธานอนุ ฯ)
3) คณะอนุ ฯ วิจัย พัฒนา และจัดการองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย (รองศาสตราจารย์ ดร.จิณณวัตร ปะโคทัง ประธานอนุ ฯ)
4) คณะอนุ ฯ กฎหมายและการคุ้มครองสิทธิ (รองศาสตราจารย์ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ ประธานอนุ ฯ)
5) คณะอนุ ฯ ด้านสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย (นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานอนุ ฯ)
และ 6) คณะอนุ ฯ พัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีความต้องการพิเศษและด้อยโอกาส (รองศาสตราจารย์ ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ ประธานอนุ ฯ)

     คำนิยามร่วมกันของเด็กปฐมวัย คือ วัยที่เริ่มต้นตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์หรือก่อนเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มอายุ ได้แก่ กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี หรือเด็กอายุ 0 - 3 ปี และกลุ่มเด็กอายุ 3 - 5 ปี ผู้ทรงคุณวุฒิได้รับทราบรายงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และอภิปรายถึงนโยบายด้านเด็กปฐมวัยเพื่อบูรณาการให้เกิดความครอบคลุมถึงเด็กปฐมวัยทุกคน ภายใต้เป้าหมายหลักให้เด็กปฐมวัยซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดของกระบวนการพัฒนาเด็กให้เป็นเด็ก “เก่ง ดี มีสุข” มีพัฒนาการทุกด้านแบบองค์รวม เกิดความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา รวมทั้งแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2579

     ทั้งนี้ สกศ. จะได้สรุปสาระสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาเด็กปฐมวัยเสนอสู่ที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่มีรองนายกรัฐมนตรี (ดร.วิษณุ เครืองาม) ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2564

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด