สกศ. จัด Online Workshop พัฒนานวัตกรรมการบริหารสถานศึกษา มุ่งนำมาตรฐานการศึกษาชาติสู่การปฏิบัติ

image

วันนี้ (๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๔) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) เปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเสริมสร้างความรู้มุ่งสู่การพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการของสถานศึกษา ครั้งที่ ๒” ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการที่ส่งผลต่อการนำมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ อดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษาและเลขาธิการคุรุสภา รองศาสตราจารย์ ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เป็นวิทยากร พร้อมด้วย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (นายสำเนา เนื้อทอง) คณะทำงานพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษา ฯ และบุคลากรจากสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ร่วมอบรม ณ ห้องประชุมภุชงค์ เพ่งศรี อาคาร ๑ ชั้น ๒ สกศ. และผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference)

 



 

การอบรมครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการสร้างองค์ความรู้และนำเสนอนวัตกรรมให้สถานศึกษาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการบริหารจัดการให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาของชาติที่ไม่บังคับวิธีการ แต่เน้นผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ทางการศึกษาที่จะเกิดกับผู้เรียน (Desired Outcomes of Education : DOE) ประกอบด้วย ๑) การเป็นผู้เรียนรู้ (Learner Person) ๒) ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovative Co-creator) และ ๓) พลเมืองที่เข้มแข็ง (Active Citizen) โดยมีการนำเสนอแนวทางสร้างรูปแบบพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาจากผู้บริหารและผู้แทนของสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ได้แก่ โรงเรียนบ้านไสไทย จังหวัดกระบี่  โรงเรียนนารีนุกูล จังหวัดอุบลราชธานี และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๑๕ จังหวัดเชียงราย 
 


นอกจากนี้ Workshop ดังกล่าวยังมีการบรรยายพิเศษจากผู้บริหารด้านการศึกษาชั้นนำใน ๒ ประเด็นสำคัญ ได้แก่ “นวัตกรรมและการจัดทำรูปแบบการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษา” โดย ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ อดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษาและเลขาธิการคุรุสภา และ “การประเมินวิทยฐานะแนวใหม่ (PA : Performance Assessment) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ซึ่งทั้งสองประเด็นครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการสร้างและพัฒนานวัตกรรมสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดจนข้อตกลงในการพัฒนางานของครูผู้สอนในการประเมินวิทยฐานะแนวใหม่ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม 

ทั้งนี้ วิทยากรได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการเลือกนวัตกรรมการบริหารสถานศึกษาที่ต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะปัจจัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) ที่เข้ามาทำให้การศึกษาต้องหยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง (Disruption) เมื่อไม่สามารถจัดกิจกรรมในสถานศึกษาได้ตามปกติ ทำให้ผู้เรียนอาจขาดประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกัน ส่งผลให้ช่องว่างของความไม่เท่าเทียมทางการศึกษามีมากขึ้น ที่ประชุมจึงได้นำเสนอนวัตกรรมทางดิจิทัลที่จะช่วยให้เยาวชนสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ห้องเรียนเสมือน (Virtual Classroom) ที่จำลองสภาพแวดล้อมของการเรียนการสอนในชั้นเรียนโดยอาศัยสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ Startup ด้านการศึกษา ซึ่งสถานศึกษาสามารถบูรณาการความร่วมมือเพื่อนำนวัตกรรมดังกล่าวมาสร้างรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ ๆ ทั้งในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) ตลอดจนการศึกษาในห้องเรียนเมื่อกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด