สกศ. เวิร์กช็อปเข้ม ๔ กลุ่ม Stakeholders ระหว่าง ๑๔ - ๑๘ มิ.ย. ๖๔ สังเคราะห์ประเด็นสำคัญจัดทำรายงานสภาวะการศึกษาไทยปี ๒๕๖๔

image

 

    ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "การพลิกโฉมสู่ความปกติใหม่ในการจัดการศึกษา : แนวทางและผลลัพธ์ที่พึงประสงค์" ที่มีรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.พีศักดิ์ รัตนะ) ประธานเปิดการประชุมผ่านระบบออนไลน์ในสถานที่ควบคุมภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๒๙ (โควิด-๑๙) ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สกศ. 


     ปฐมบทการประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กช็อป) วันแรก ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ โฟกัสกรุ๊ปในกลุ่มเด็กและเยาวชน ได้รับเกียรติหัวหน้าฝ่ายการศึกษา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย (ดร.อาร์ตี เซจิ) ร่วมงานพร้อมชี้แจงความร่วมมือการจัดทำรายงานสภาวะการศึกษา ปี ๒๕๖๔ ภายใต้ความร่วมมือ สกศ. องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้ปกครอง ครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา (๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๔) กลุ่มนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ (๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๔) ตลอดจนกลุ่มผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ (๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๔) ร่วมกันศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางการศึกษาและประเด็นร่วมสมัยที่มีผลกระทบต่อการจัดการศึกษาของประเทศไทย รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการวิเคราะห์สภาวะการศึกษาไทยกับองค์กรระหว่างประเทศด้านการศึกษาในประเทศไทย


     ดร.นิพัชชา โรจน์รัตนวาณิชย์ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อภิปรายนำถึงสภาพการจัดการศึกษาเบื้องต้นกับปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในบริบทความท้าทายปัจจุบัน ได้แบ่งจัดการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อวิเคราะห์แนวทางและผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ และร่วมกันสังเคราะห์ประเด็นร่วมสมัยทางการศึกษาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะการศึกษาไทย ปี ๒๕๖๔ ภายใต้มาตรการป้องกันโรคโควิด-๑๙ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำหนดการเรียนการสอนเป็น ๕ รูปแบบ เพื่อให้มีความเหมาะสมต่อการรับมือกับการแพร่ระบาด คือ ๑) ON-SITE เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ๒) ON-AIR เรียนผ่านมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฯ หรือ DLTV ๓) ON-DEMAND เรียนผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ๔) ONLINE เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต และ ๕) ON-HAND เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือ แบบฝึกหัดใบงาน ในรูปแบบผสมผสาน หรืออาจใช้วิธีอื่น ๆ 

 


     ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบจากโรคโควิด-๑๙ จำเป็นต้องมีการจัดการรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อที่จะให้ผู้เรียนไม่หยุดกระบวนการเรียนรู้ ถึงแม้ว่าสถานการณ์โรคโควิด-๑๙ ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมและทั่วโลกมาก่อน ดังนั้น ต้องแสวงหาวิธีการ/เครื่องมือ/รูปแบบ ที่เหมาะสมสำหรับผู้เรียนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติดังกล่าว ซึ่งแน่นนอนที่สุดว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือ การที่ผู้เรียนและผู้สอนได้มีโอกาสได้ทำกิจกรรมร่วมกัน แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ซึ่งประเด็นในการโฟกัสกรุ๊ปครอบคลุมในหลายเรื่องสำคัญ อาทิ แนวทางและผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ในการจัดการศึกษา ช่วงปี ๒๕๖๔ ประเด็นทางการศึกษาใดที่บ่งบอกสภาวะการศึกษาชัดเจนที่สุด ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษามากที่สุด ปัญหาการจัดการศึกษาที่สำคัญ ตัวอย่างความสำเร็จของการจัดการศึกษาที่เด่นชัดที่สุด และข้อเสนอแนะประเด็นการศึกษาใดที่ควรศึกษาและควรปรากฎเพิ่มเติมอยู่ในรายงานสภาวะการศึกษาไทย ปี ๒๕๖๔   
 
      
     ทั้งนี้ สกศ. จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการประชุมไปจัดทำรายงานสภาวะการศึกษา ปี ๒๕๖๔ ให้มีความสมบูรณ์และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด