เสมา ๒ ประชุมสภาการศึกษา ๓/๖๔ จัดทัพปฏิรูปทั้งระบบรองรับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่

image

     เมื่อวันที่ (๙ มิถุนายน ๒๕๖๔) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) มอบหมายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) ทำหน้าที่ประธานการประชุมสภาการศึกษา (กกส.) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๔ โดยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ) พร้อมคณะผู้บริหาร และ กกส. ผู้ทรงคุณวุฒิให้การต้อนรับและร่วมประชุม ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) 


     สกศ. จัดการประชุมในสถานที่ควบคุมภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๒๙ (โควิด-๑๙) โดยที่ประชุมมีวาระสำคัญเพื่อพิจารณา อาทิ แนวทางการรับรองวิทยฐานะให้กับการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีสนามหลวง และแผนกธรรมสนามหลวง กกส.ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านได้หารืออย่างกว้างขวางทั้งในแง่มุมกฎหมายรวมถึงรูปแบบการเทียบโอนระดับการศึกษาและคุณวุฒิที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และมีมติเห็นชอบมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการออกหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับวิชาสามัญเพิ่มเติมตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ โดยคำแนะนำของมหาเถรสมาคม (มส.) เพื่อประโยชน์ในการรับรองวิทยฐานะให้แก่สามเณรที่ศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีสนามหลวงและแผนกธรรมสนามหลวง ตามมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. ๒๕๖๒

 


     ที่ประชุมอภิปรายอย่างกว้างขวางและให้ข้อเสนอแนะการจัดทำ (ร่าง) ดัชนีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ที่เข้มแข็ง ตรงจุด และสอดคล้องวิถีชีวิตปัจจุบันภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) เริ่มตั้งแต่เกิดจนกระทั่งสูงวัย เน้นเพิ่มขีดความสามารถในการใช้เครื่องมือเพื่อการเรียนรู้และการพัฒนาคุณลักษณะนิสัยใฝ่รู้อย่างมีวิจารณญาณ โดยควรปรับเนื้อหาให้มีความสอดคล้องร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... และร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. .... ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา และมาบูรณาการกับผลการศึกษาของ สกศ. จากตัวชี้วัดที่มีอยู่แล้วในประเทศไทยในรอบ ๒ ปีที่ผ่านมาครอบคลุม ๓ มิติ ๙ ตัวชี้วัดหลัก และ ๓๕ ตัวชี้วัดย่อย 

 


    

     ทั้งนี้ แนวทางการจัดทำ (ร่าง) ดัชนีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตไทยเป็นรูปแบบของรายงานและนำข้อมูลมาสร้างรายงานที่เป็นภาพรวมทางการศึกษา (Dashboard) บนระบบของ สกศ. ให้ผู้บริหารสามารถ​ทำการวิเคราะห์ได้ง่ายขึ้น โดยแสดงรายละเอียดมิติและตัวชี้วัดของดัชนีจำแนกตามจังหวัด เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการวางแผนยกระดับการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของจังหวัดและภูมิภาคได้ ซึ่ง สกศ. จะได้ปรับปรุง (ร่าง) ดัชนีการศึกษา ฯ ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

 


   

     สกศ. ได้รายงานผลการศึกษา "ปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทย พ.ศ. ๒๕๖๓" ที่สะท้อนข้อมูลจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของวัยแรงงาน (กลุ่มอายุ ๑๕ - ๕๙ ปี) เท่ากับ ๙.๘๖ ปี ยังห่างจากค่าเป้าหมายถึง ๒.๖๔ ปี จากเป้าหมายในปี ๒๕๗๙ ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ อยู่ที่ ๑๒.๕ ปี ที่ประชุมได้หารือร่วมกันถึงแนวทางการเพิ่มจำนวนปีการศึกษาของคนไทยที่มากขึ้นทั้งเชิงปริมาณควบคู่กับเชิงคุณภาพสอดรับกับผู้เรียนปัจจุบันที่แสวงหาความรู้เชิงสมรรถนะมากขึ้น โดย สกศ. สังเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เร่งจัดสรรงบประมาณทางการศึกษาให้มีความสอดคล้องความต้องการและความจำเป็นของสถานศึกษาแต่ละขนาดที่มีความแตกต่างกัน เสนอปรับหลักสูตรการเรียนการสอนแบบข้ามสาขาวิชาเพื่อพัฒนาให้เด็กมีทักษะรองรับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ รวมถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปรับการจัดการเรียนการสอนแบบ Non-Degree การใช้กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และระบบคลังหน่วยกิต (Credit bank) ที่มีการกำหนดผลลัพธ์ของการเรียนรู้เน้นสมรรถนะที่จำเป็นในตลาดแรงงานพัฒนาไปสู่การจัดทำคลังสมรรถนะของประเทศไทย

 


     ทั้งนี้ จำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษาที่เกิดรูปธรรมชัดเจน ขับเคลื่อนภายใต้กฎหมายการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ จัดระบบการเรียนรู้ใหม่ ๆ เช่น การจัดการศึกษาโดยครอบครัว (Home School) ที่ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง ตลอดจนเร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบและหลักสูตรการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สนับสนุนการพัฒนาทักษะ ปรับทักษะ และสร้างทักษะใหม่ให้กับวัยแรงงานให้มีความรู้และสามารถเรียนต่อได้สูงขึ้น

 


     ที่ประชุมแสดงความยินดี นางปัทมา วีระวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่ได้รับแต่งตั้งเป็น กกส.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษาและการวัดและประเมินผลการศึกษา แทน นายวณิชย์ อ่วมศรี ที่ลาออกได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา (อนุ กกส.) ทั้ง ๖ คณะ รับทราบรายงานผลการศึกษารูปแบบการจัดการเรียนรู้ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานการณ์โควิด-๑๙ ความเคลื่อนไหวการดำเนินงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) รวมทั้งการดำเนินงานการพัฒนาเด็กปฐมวัย

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด