ประเทศไทยพร้อมเดินหน้าเทียบเคียง AQRF
วันนี้ ( วันที่ 29 มีนาคม 2564) ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน ประจำประเทศไทย (Thailand AQRF Committee)เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทย พร้อม ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ประสานงาน (focal point) ประจำประเทศไทย และผู้แทนองค์กรหลักเกี่ยวกับระบบคุณวุฒิของประเทศไทย เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้งอิงอาเซียน (The Intersessional Meeting of ASEAN Qualifications Reference Framework (AQRF) Committee) ผ่าน Video Conference
ประเทศไทย ได้ร่วมเป็นคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF Committee) โดยร่วมกับประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ จัดทำกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF)และหลักการที่เกี่ยวข้อง และได้เข้าร่วมเป็นประเทศนำร่องตามแผนงานเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนของสำนักเลขาธิการอาเซียน ในโครงการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน ระยะที่ 4 (Referencing National Qualifications Frameworks to the ASEAN Qualification Reference Framework – Phrase IV)
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้ร่วมกับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องจัดทำรายงานการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนของประเทศไทย (AQRF Referencing Report of Thailand) ตามเกณฑ์ที่ประเทศสมาชิกร่วมกันกำหนดขึ้น และได้รับการรับรองรายงานการเทียบเคียงฯ อย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนแล้ว เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563
ในส่วนของการขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนประเทศไทย มี 4 ภาคส่วนหลักที่เป็นผู้ประสานงาน (focal point) ของประเทศไทย คือ (1) ภาคการศึกษา คือ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (2) ภาคแรงงาน คือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน (3) ภาคการค้า คือ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และ (4) ภาคคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง คือ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) พร้อมทั้งองค์กรหลักที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)
ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการส่งมอบหน้าที่ประธาน AQRF Committee จากประเทศอินโดนีเซีย เป็นกัมพูชา และรองประธาน จากประเทศกัมพูชา เป็น สปป.ลาว ตามวาระการหมุนเวียนการเป็นประธานกรรมการตามตัวอักษรชื่อประเทศ พร้อมรับทราบและติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง แบ่งเป็น 4 ประเด็นหลัก คือ
• การทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมาของคณะกรรมการในช่วง ปี ค.ศ. 2018 – 2020 (AQRF Activities in 2018 – 2020)
• การรายงานความก้าวหน้าของกิจกรรม/โครงการที่เกี่ยวข้องกับ AQRF Committee ได้แก่ (1) โครงการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนระยะที่ 5 (AQRF Phase V – Capacity Building for NQF and Referencing) (2) การพัฒนาศักยภาพด้าน NQF และ QA ในประเทศ CLMV (Capacity Building for Implementing the NQF and QA in TVET in CLMV) (3) การขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการ EU-SHARE Programme ไปถึงปลาย ค.ศ. 2022 (4) ความก้าวหน้าของการดำเนินการตามปฏิญญาอาเซียน (The ASEAN Declaration on Human Resources Development) (5) การประชุมเชิงปฏิบัติการด้าน QA (ASEAN Workshop on Guiding Principles for Quality Assurance) (6) ความก้าวหน้าของสภาการอาชีวศึกษาอาเซียน (ASEAN TVET Council: ATC) และ (7) ผลการประชุมคณะทำงานเพื่อการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายผู้เรียนและการประกันคุณภาพการอุดมศึกษาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม (Working Group on Student Mobility and Quality Assurance of Higher Education among the ASEAN Plus Three Countries)
• การติดตามการขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) ของประเทศสมาชิก และการเทียบเคียง AQRF ตามแผนการดำเนินงานปี ค.ศ. 2020 – 2025 (AQRF Committee Work Plan for 2020 – 2025) ประกอบด้วยการขับเคลื่อนงานของประเทศสมาชิกที่ได้รับรองรายงานการเทียบเคียง AQRF ทั้ง 4 ประเทศ คือ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ประเทศไทยได้นำเสนอความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนงาน โดยคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบต่อแผนขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ พ.ศ. 2562 – 2565 และแผนปฏิบัติการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ พ.ศ. 2562 – 2565 และในส่วนของการดำเนินการตามรายงานการเทียบเคียง AQRF ในการรับรองคุณวุฒิของผู้ที่สำเร็จการศึกษา/ผู้ผ่านการรับรองคุณวุฒิหรือมาตรฐานอาชีพ เทียบกับระดับคุณวุฒิแห่งชาติ (Thailand NQF) และ AQRF โดยที่ประชุม ได้ขอให้ประเทศสมาชิกที่ผ่านการรับรองรายงานการเทียบเคียง AQRF ทั้ง 4 ประเทศเตรียมนำเสนอความก้าวหน้าและตัวอย่างการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน ในการประชุม AQRF Committee ครั้งต่อไป
• การเตรียมการเทียบเคียง NQF กับ AQRF ของประเทศสมาชิก 4 ประเทศ คือ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม โดยประเทศสมาชิกทั้ง 4 ได้รายงานความก้าวหน้าในจัดทำ (ร่าง) รายงานการเทียบเคียง AQRF และกระบวนการที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ โดย สปป.ลาว จะจัดส่งร่างรายงานดังกล่าว ในเกณฑ์ที่ 1 – 6 เพื่อให้กรรมการพิจารณาในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2021 ส่วนกัมพูชา เมียนมาร์ และเวียดนามจะส่ง (ร่าง) รายงานฯ ให้คณะกรรมการพิจารณาในเดือนสิงหาคม 2021
ที่ประชุมได้กำหนดนัดหมายการประชุม AQRF Committee ครั้งต่อไป ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564 โดยกำหนดวาระหลักในการประชุม อาทิ (1) การเริ่มต้นกิจกรรมตามโครงการฯ ระยะ 5 (2) การนำเสนอแผนการบูรณาการกิจกรรมระหว่าง AQRF Committee กับ EU-SHARE (3) การหารือแนวทางการขับเคลื่อนงาน AQRF ภายหลังจากการได้รับการรับรองรายงานการเทียบเคียงฯ และ (4) การพิจารณา (ร่าง) รายงานการเทียบเคียงฯ ของ สปป.ลาว