กูรูสมองกล OEC Forum ป้อน อินพุต พลิก Digital Transformation ประมวลผล เอาต์พุตจัดการศึกษาดิจิทัลโดนใจ Gen Z

image

    วันนี้ (๒๕ มีนาคม ๒๕๖๔) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการเสวนา OEC Forum ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ เรื่อง "การจัดการศึกษาในยุค Digital Transformation" โดยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ) ประธานเปิดการเสวนา ดร.สุกิจ อุทินทุ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาการศึกษา (กกส.) ให้เกียรติดำเนินรายการ ณ ห้องศึกษิตสโมสร ชั้น ๒ อาคาร ๒ สกศ.  

      ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ที่มีการเว้นระยะห่างอย่างเข้มงวด สำนักสื่อสารองค์กร สกศ. ต่อยอดการศึกษาไทย New Normal ถ่ายทอดสดผ่านแพลตฟอร์มสื่อดิจิทัล Facebook live, YouTube, Line : OEC News สภาการศึกษา ขยายวงคิดให้กว้างขวางออกไปทั่วประเทศ  

     ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า นโยบายการศึกษาเป็นการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายแท้จริง OEC Forum เป็นเวทีระดมความคิดเห็น ร่วมกันคิด แสดงความคิดเห็น นำสู่แก้ไขปรับปรุงนโยบายการศึกษาของชาติ การจัดการศึกษาในยุคเปลี่ยนผ่านดิจิทัล หรือ Digital Transformation ต้องได้รับข้อคิดเห็นและแนวคิดการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่เป็นประโยชน์ ภายใต้สถานการณ์โควิด-๑๙ ระบบดิจิทัลทำให้บริบทการเรียนรู้การเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงไปเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรของระบบการศึกษา ประเทศไทยต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงนโยบายการส่งเสริมการศึกษาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ 

    
     รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ปาฐกถาพิเศษ "ทิศทางการศึกษาในยุค Digital Transformation" สรุปความสำคัญตอนหนึ่งว่า ทิศทางการศึกษาใหม่ Digital Transformation มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเทคโนโลยีและความทันสมัยของข้อมูลข่าวสารทำให้เรียนรู้ได้ตลอดเวลา ก้าวสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิตสร้างความเท่าเทียมกันด้วยความรู้ อย่างไรก็ดี ตนเองคือผู้เรียนรู้ที่ต้องมุ่งมั่นตั้งใจกำหนดทิศทางการเรียนรู้ จึงสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวตนอย่างแท้จริง ขณะที่สังคมรอบตัวทั้งครอบครัว พ่อแม่ เพื่อน ครู จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันสร้างให้เกิดตัวตนของผู้เรียน 

     สถานที่ไม่ใช่สิ่งปิดกั้นการเรียนรู้อีกต่อไป เพราะมีการเรียนออนไลน์สร้างจุดเปลี่ยนสำคัญการเรียนรู้ทำให้ทุกคนก้าวข้ามไปสู่การเรียนอย่างไร้ขีดจำกัด ระบบอัตโนมัติเข้ามามีส่วนสัมพันธ์กับชีวิตมนุษย์มากขึ้น เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เครื่องจักรที่มีมันสมองที่เรียกว่าอัลกอริทึม (Algorithm) ที่หมายถึงกระบวนการแก้ปัญหาที่สามารถอธิบายออกมาเป็นขั้นตอนที่ชัดเจน เมื่อนำเข้าอะไร (Input) แล้วจะต้องได้ผลลัพธ์ (Output) เช่นไร สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ 

     ท้ายที่สุดมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง Blockchain ทำให้เกิดการข้อมูลที่น่าเชื่อถือและไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้ ริเริ่มใช้แล้วกับการจัดทำคำพิพากษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความปลอดภัยกับข้อมูลการจบการศึกษา หรือเกรดคะแนน ที่น่าเชื่อถือและไม่สามารถแก้ไขบิดเบือนข้อมูลได้อีกต่อไป                     
     ข้อสังเกตสถานการณ์โควิด-๑๙ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาในยุคดิจิทัลครั้งใหญ่ หรือที่เรียกว่า Balck Swan ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านมากมายที่เกิดขึ้นทั่วโลก เปลี่ยนผ่านอย่างเป็นระบบ เช่น การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-๑๙ แตกต่างกันแต่ละภูมิภาคโลก ไม่สามารถระบุความลึกล้ำได้ ไม่มีความแน่นอนและพร้อมจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ซึ่งแม้แต่นักพยาการณ์อนาคตยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป ยังเป็นความท้าทายต่อการพัฒนาความคิดและสร้างระบบการเรียนรู้เพื่อสนองการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้น

     "รู้สึกยินดีที่ได้ร่วมงานกับ สกศ. และทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการศึกษาชาติไปด้วยกัน เพราะทิศทางการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาควรเป็นแผนปฏิรูปของประชาชนที่ไม่ใช่แค่ความคิดใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้นจึงสามารถสร้างระบบการศึกษาและตอบสนองการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมตรงจุด" รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ กล่าว 


   
   

 

 คณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ทันตแพทย์กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ เลขานุการคณะกรรมการภาคีเครือข่ายเพื่อการศึกษาไทย ครูจิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง เจ้าของรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประเทศไทย ปี ๒๕๖๐ และนายสรวิศ ไพบูลย์รัตนากร พี่ยีราฟ ผู้ก่อตั้ง Saturday School ได้แสดงทัศนะแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดหลากมิติการจัดการศึกษาในยุค Digital Transformation อย่างเข้มข้น  

 

     AI ไม่ใช่สิ่งใหม่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานกว่า ๒๕ ปีแล้ว แต่ปัจจุบันระบบคอมพิวเตอร์เร็วขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก ทว่า คนไม่ใช่คอมพิวเตอร์ที่ต้องมีพัฒนาการต่อเนื่องตั้งแต่ปฐมวัยช่วงวัย ๑ - ๓ ขวบ นโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยจึงสำคัญและส่งผลกระทบระยะยาว ระบบการศึกษาต้องค้นหาตัวตนของเด็กให้พบเร็วที่สุด แนวคิดการส่งเสริมเรียนอาชีวศึกษาจึงสร้างความท้าทายในการสร้างอาชีพของเด็กสมัยใหม่ที่มีรายได้ชัดเจน ขณะที่การศึกษาระดับอุดมศึกษาต้องเร่งสร้างทักษะผู้สำเร็จการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ปรัชญาการเรียนเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทว่า ระบบการศึกษาไทยยังขยับช้ามากเมื่อเทียบกับ Digital Transformation ที่รุกล้ำเข้ามานานพอสมควร ผู้ใดครองเทคโนโลยี ผู้นั้นครองเศรษฐกิจ ผู้ใดครองเศรษฐกิจ ผู้นั้นครองอำนาจ คำกล่าวนี้ทำให้ต้องหันมาพัฒนาการศึกษาให้เท่าทันเทคโนโลยีและใช้กับการเรียนรู้มากขึ้น 


         
     การเปลี่ยนผ่านดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของเด็กหรือผู้เรียน แม้จะมีการเปลี่ยนผ่านอะนาล็อกไปยังดิจิทัลแต่ความเป็นมนุษย์ยังคงอยู่ จึงควรให้ความสำคัญกับ soft skill คือทักษะด้านอารมณ์และการบริหารจัดการความคิดซึ่งถือเป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปดิจิทัลคือปัจจุบันการมองไปข้างหน้าอีก ๑๐ - ๒๐ ปี ต้องเตรียมรับมือกับยุคต่อไปที่ไม่มีใครรู้แต่อาจเรียกว่า "ยุคควอนตัม" ที่มีความเร็วกว่าคอมพิวเตอร์ปัจจุบัน ๑๐๐ ล้านเท่า สิ่งที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแต่ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กยังไม่เปลี่ยนแปลงไปยังคงเป็นความจริงของการเรียนรู้ แรงบันดาลใจสำคัญต้องวางแนวทางเด็กอยากเรียนในสิ่งที่ตนเองสนใจ ควรมีนโยบายการศึกษาที่รองรับการเรียนรู้ที่มีเด็กเป็นตัวตั้ง   

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด