สกศ. เช็ครีพอร์ตแปลงมาตรฐานการศึกษาชาติสู่การปฏิบัติ เดินหน้าปี ๖๔ ต่อยอดตอบโจทย์ Big rock ปฏิรูปการศึกษา

image

  วันนี้ (๒๔ มีนาคม ๒๕๖๔) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) ร่วมการประชุมคณะทำงานขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ ที่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิการอาชีวศึกษา (ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์) เป็นประธาน โดยมีผู้แทนองค์กรในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิจารณากำหนดแนวทางขับเคลื่อนงาน ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)  

 

 


     มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพ ที่พึงประสงค์ของคนไทย เพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่งยึดเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาผู้เรียนไปสู่ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา ๓ ประการ ๑) ผู้เรียนรู้  ๒) ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และ ๓)  พลเมืองที่เข้มแข็ง


     ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. และ
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้หารือถึงแนวทางการสร้างความเชื่อมโยงมาตรฐานการศึกษาของชาติกับมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๓ ที่มุ่งเน้น ๓ มาตรฐานหลัก ๑.การบริหารจัดการสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ๒.ครู/ผู้ดูแลเด็กให้การดูแล และจัดประสบการณ์ และ ๓.คุณภาพของเด็กปฐมวัย เพื่อสร้างความสอดคล้องให้เป็นไปตามแนวทางการประเมินผลการจัดการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ แม้ช่วงที่ผ่านมามีข้อจำกัดบางประการในสถานการณ์เฝ้าระวังการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการประเมินผลไปตามสถานการณ์ที่เหมาะสม 

 


     

     ในปีงบประมาณ ๒๕๖๓ สกศ. ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยจัดประชุมหน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกจากนี้ สกศ. ได้ติดตามผลนำมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติใน ๔ ภูมิภาค พบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการนำมาตรฐานการศึกษาของชาติไปเป็นกรอบในการดำเนินงานตามภารกิจของตนได้อย่างสอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน สถานศึกษาบางส่วนโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลยังไม่รับทราบข้อมูลมาตรฐานการศึกษาของชาติ อาจเนื่องมาจากช่องทางการสื่อสารยังไม่ครอบคลุม ซึ่ง สกศ. ต้องดำเนินการขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่องให้มีความครอบคลุมทั่วถึงให้มากขึ้น


     อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานปี ๒๕๖๓ สกศ. สังเคราะห์ข้อค้นพบการดำเนินงานด้านมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา พบว่า ในระดับสถานศึกษาซึ่งเป็นระดับปฏิบัติหลายแห่งยังไม่มีความพร้อมในการจัดทำมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา เนื่องจากบุคลากรที่ดูแลรับผิดชอบยังขาดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องมาตรฐานการศึกษาของชาติ และความเชื่อมโยงของมาตรฐานการศึกษาของหน่วยงานต้นสังกัดและมาตรฐานการศึกษาของชาติ

 


     การประกันคุณภาพการศึกษา พบว่าในระดับนโยบาย ศธ. ได้ออกกฎกระทรวงการประกันคุณภาพ พ.ศ. ๒๕๖๑ แต่ในทางปฏิบัตินั้นสถานศึกษาบางแห่งยังไม่ดำเนินการตามกฎกระทรวง ฯ  บางแห่งยังไม่เข้าใจระบบการประกันคุณภาพการศึกษาแนวใหม่เนื่องจากเหตุผลของการประกาศใช้มาตรฐานการศึกษาของชาติมีขึ้นภายหลังมาตรฐานการศึกษาของหน่วยงานต้นสังกัดหรือสถานศึกษาอาจจะขาดความเข้าใจในเป้าหมายของมาตรฐานการศึกษาของชาติ ข้อสังเกตประการหนึ่งจากผู้แทน สทศ. ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ แต่แบบวัดและประเมินผลต่าง ๆ ชี้ชัดว่าต้องอาศัยผู้ออกข้อสอบที่มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งการขาดแคลนเครื่องมือด้านเทคโนโลยีการพัฒนานวัตกรรมการทดสอบต่าง ๆ ในรูปแบบระดับชาติ 


     ทั้งนี้ ภายหลังผู้แทน สกศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติต่อที่ประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงาน ประธานคณะทำงาน ฯ ได้เน้นย้ำแนวทางขับเคลื่อนงานในปี ๒๕๖๔ ควรเชื่อมโยงถึงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ที่มุ่งเน้นตอบโจทย์กิจกรรมปฏิรูปที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big rock) ด้านการศึกษาทั้ง ๕ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ๑.การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ๒.การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ๓.การสร้างระบบการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพ ๔.การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีและระบบอื่น ๆ ที่เน้นการฝึกปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ นำไปสู่การจ้างงานและการสร้างงานและ ๕.การปฏิรูปบทบาทการวิจัยและระบบธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผล


     อย่างไรก็ดี การนำมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัตินั้นแนวทางดำเนินการต้องเริ่มตั้งแต่หน่วยงานต้นสังกัด ผู้บริหารที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการศึกษาอย่างชัดเจน และการมีวัฒนธรรมการทำงานที่มุ่งคุณภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ การขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพในเชิงนโยบาย คือ ดำเนินการผ่านกลไกคณะทำงานที่มีองค์ประกอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย และร่วมวางแผนการดำเนินงานร่วมกันในแต่ละปี การปรับปรุงแก้ไขประกาศ ศธ. เรื่อง มาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๑ ให้เป็นกฎกระทรวง ฯ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอุดมศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๒ และการนิเทศ กำกับ ติดตามอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องโดยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน 


     ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันยังมีสถานศึกษาอีกหลายแห่งที่ยังไม่รับทราบข้อมูลดังกล่าว เนื่องจากช่องทางการสื่อสารยังไม่หลากหลายครอบคลุมและทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ดังนั้น ผู้กำหนดนโยบายหรือหน่วยงานต้นสังกัดควรสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ จัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสมเพียงพอ และกำหนดแผนการติดตาม การดูแลให้ความช่วยเหลืออย่างชัดเจน

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด