ถกนัดแรกวางกรอบยกร่าง พ.ร.บ.การบริหารข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา พ.ศ. .... ตอบโจทย์ วิถีเรียนรู้ New Normal
วันนี้ (๑๘ มีนาคม ๒๕๖๔) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ) และที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา (นายสวัสดิ์ ภู่ทอง) ร่วมการประชุมคณะทำงานพิจารณาจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา พ.ศ. .... ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ ที่มี ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นประธาน ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการ สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมผู้แทนหน่วยงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในองค์กรกระทรวงศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือ ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
การประชุมคณะทำงานพิจารณาจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา พ.ศ. .... นัดแรกนี้ ที่ประชุมได้รับทราบหน้าที่และอำนาจในการดำเนินงานจัดทำร่างกฎหมายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) รองรับการขับเคลื่อนตัวมา พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาขณะนี้สอดรับกับแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สาระสำคัญเน้นการบริหารและการจัดการศึกษาให้มีความยืดหยุ่นหลากหลาย การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการบริหารและจัดการศึกษา การส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษา
ที่ประชุมหารืออย่างกว้างขวางถึงความเชื่อมโยงระหว่างกฎหมายสำคัญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ/ความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ/การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่มีความครอบคลุม ๑) กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ๒) กฎหมายการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ๓) กฎหมายระบบการชำระเงิน ๔) กฎหมายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ๕) กฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และ ๖) กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อแสวงหาจุดร่วมโดยคำนึงถึงประเด็นปัญหาด้านการศึกษาของประเทศทั้ง ด้านคุณภาพการศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัญหาของระบบการศึกษาที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงการบริหารและการจัดการศึกษาปัจจุบันมีการใช้ระบบการศึกษาด้าน ICT อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นระบบสารสนเทศช่วยในการเรียนการสอน การสอนทางไกลผ่านดาวเทียม การประชุมทางไกลระบบจอภาพ ระบบฐานข้อมูลการศึกษา รวมทั้งระบบสารสนเทศเอกสาร
ทั้งนี้ คณะทำงาน ฯ ทำหน้าที่รวบรวมศึกษา วิเคราะห์ ข้อมูลและระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องวางกรอบแนวทางนำไปสู่การจัดทำร่างพ.ร.บ.การบริหารข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา พ.ศ. .... สอดรับการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา โดยจำเป็นต้องเร่งประยุกต์ใช้ ICT กับงานด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บข้อมูล และประมวลผลฐานข้อมูล การพัฒนาระบบสารสนเทศช่วยการเรียนการสอน การวางแผนและการบริหารการศึกษา การวางแผนหลักสูตร การแนะแนวและบริการ การทดสอบวัดผล การพัฒนาบุคลากรที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลสอดรับทิศทางการพัฒนาประเทศ
นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึง สถานการณ์และบริบทการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อการจัดการศึกษาที่สำคัญ ภายใต้สถานการณ์ความก้าวหน้าของ ICT ที่ช่วยให้มีการสื่อสารไร้พรมแดนและสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล และแหล่งความรู้ ได้สะดวกทุกที่ทุกเวลา และบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของประชากรทั่วโลกในทุกกลุ่มทุกวัยที่จะต้องเผชิญความท้าทายกับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) เพื่อให้การศึกษาของประเทศสามารถรองรับ ความหลากหลายของการจัดการศึกษาและตอบโจทย์การพัฒนาของโลกอนาคต
อย่างไรก็ตาม การยกระดับการศึกษาด้าน ICT ที่ประชุมเห็นไปในแนวทางเดียวกันต้องดำเนินการตั้งแต่การวางแผนโดยเชื่อมโยงการศึกษาด้าน ICT กับแผนอื่น ๆ รวมทั้งหากลไกการสนับสนุน และดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ให้ครอบคลุม ซึ่งรวมถึงการพัฒนาครูให้มีทักษะ การกำหนดมาตรฐานด้านการเรียนรู้ ICT และทำให้การเรียนรู้ ICT เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต
รวมทั้งการมีอุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน และการติดตามประเมินผลการใช้ ICT ในการศึกษา ซึ่งประเทศไทยอาจนำมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาแรงงานของไทยให้มีขีดความสามารถในการรองรับการทำงานในอนาคต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในที่สุด