ครูกัลยา นั่งหัวโต๊ะถกบอร์ดใหญ่ NQF ไฟเขียวตั้งสำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ภายใต้ สกศ. เคลื่อนงานเต็มระบบ
วันนี้ (๑๗ มีนาคม ๒๕๖๔) รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คุณหญิง ดร.กัลยา โสภณพนิช) ประธานการประชุมคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔โดยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ) คณะอนุกรรมการ ฯ ผู้แทนองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือ ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
คุณหญิง ดร.กัลยา โสภณพนิช กลับมาเยือน สกศ. เป็นครั้งแรกของปี ๒๕๖๔ ในการประชุมคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) นัดแรกปีนี้ ภายหลังดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รรท.รมว.ศธ.) พร้อมประกาศเร่งเดินหน้าขับเคลื่อน-สานต่อนโยบาย ๑๐ ภารกิจหลักของ ศธ. และมอบหมาย สกศ. ติดตาม กำกับ และเร่งผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่ได้ผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว
ภายใต้บอร์ด NQF ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน ๔ คณะ ๑) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติจริง (นายอรรถการ ตฤษณารังสี ประธานอนุ ฯ) ๒) คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเทียบโอนผลการเรียนรู้และประสบการณ์ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ประธานอนุ ฯ) ๓) คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบเครือข่ายฐานข้อมูล (รองศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ประธานอนุ ฯ) และ ๔) คณะอนุกรรมการการบริหารและกำกับติดตามการพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วน (นายถาวร ชลัษเฐียร ประธานอนุ ฯ) และ ๑๑ คณะทำงาน โดย สกศ. ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ และมีการหารือความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนงาน NQF อย่างต่อเนื่อง
ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงาน NQF โดยเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม ๒๕๖๒ ในการประชุมที่สาธารณรัฐอินโดนีเซียนั้น ประเทศกลุ่มอาเซียนมีมติเป็นเอกฉันท์รับรองรายงานการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติประเทศไทยสู่กรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) ซึ่งจะส่งผลต่อการหมุนเวียนกำลังคนทั้งกลุ่มนักเรียน นักศึกษา รวมทั้งกำลังคนในอาชีพ ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนช่วยสร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มโอกาส มูลค่าทางเศรษฐกิจ
รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นระหว่างประเทศสมาชิก ไทย จึงต้องเร่งสร้างกลไกอย่างเข้มแข็งในการเชื่อมโยงระบบการเรียนรู้ของภาคการศึกษากับมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ตลาดแรงงานยอมรับ และสร้างโอกาสให้คนที่อยู่นอกระบบการศึกษา สามารถเทียบโอนประสบการณ์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต นำไปสู่การได้รับค่าตอบแทนที่สอดคล้องกับสมรรถนะเพื่อผลักดันเร่งผลิตและพัฒนากำลังคน เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีคุณภาพ และตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ
วาระสำคัญเพื่อพิจารณาคือร่างคำขอจัดตั้ง "สำนักกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (สกช.)" ซึ่งจะเป็นส่วนราชการระดับสำนัก ภายใต้ สกศ. เพื่อรับผิดชอบการขับเคลื่อนงาน NQF อย่างเต็มระบบ ผู้ทรงคุณวุฒิได้หารืออย่างกว้างขวางสำหรับการจัดตั้ง "หน่วยงานกลาง" ในการดำเนินงาน NQF ของประเทศตามมติ ครม. ที่ได้กำหนดโครงสร้าง สกช. เบื้องต้น ๔ กลุ่มงาน และ ๑ ฝ่าย กรอบอัตรากำลัง ๓๒ คน (ข้าราชการ ๓๐ คน และบุคลากร ๒ คน) ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายและเห็นชอบหลักการข้างต้น
ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กระทรวงอุตสาหกรรม และ อว. ตั้งข้อสังเกตถึงภารกิจกลุ่มงานวิจัยและพัฒนาระบบข้อมูล สกช. นั้น อัตรากำลังยังไม่เพียงพอต่อภารกิจงานวิจัยและการพัฒนาระบบ Big data ที่มีขนาดใหญ่และสำคัญมาก จึงควรใช้ความรอบคอบและสรรหาผู้ปฏิบัติงานที่มีสมรรถนะ/ทักษะสอดคล้องกับภารกิจดังกล่าว และกำหนดหน้าที่และอำนาจของ สกช. ให้มีความชัดเจนทางปฏิบัติ ไม่กระทบหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการ ข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
ทั้งนี้ เห็นควรปรับใช้แบบจำลองธุรกิจ (Business Model) มาช่วยกำหนดวัตถุประสงค์ กลยุทธ์ โครงสร้าง รวมถึงวัฒนธรรมองค์กร โดยขอให้ฝ่ายเลขานุการสรุปแนวทาง/โครงสร้าง/หน้าที่/อำนาจหน้าที่ของ สกช. ตามข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันนำมาพิจารณาอีกครั้ง
สกศ. ภายใต้ความร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้ขับเคลื่อนงาน NQF มาอย่างต่อเนื่องเร่งเชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพ โดยนำร่องอาชีพช่างซ่อมอากาศยาน ขณะที่มีการศึกษา วิเคราะห์ความต้องการใช้กำลังคนในภาคอุตสาหกรรมของประเทศใน ๗ สาขาอาชีพต้นแบบที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย
๑) โลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน ๒) โลจิสติกส์และซัพพลายเชน ๓) หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ๔) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและดิจิทัลคอนเทนต์ ๕) อาหารและเกษตร ๖) ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงาน และพลังงานทดแทน และ ๗) แม่พิมพ์ ซึ่งได้มีการยกร่างแผนปฏิบัติการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ - ๒๕๖๕ รองรับการขับเคลื่อนพัฒนาทั้ง ๗ + ๑ สาขาข้างต้น
นอกจากนี้ ได้พิจารณาและเห็นชอบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน NQF สู่การปฏิบัติ จำนวน ๒ ฉบับ ๑) ร่างประกาศสำนักนายก ฯ เรื่อง การจัดการศึกษาและการฝึกอบรมตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และ ๒) ร่างประกาศสำนักนายก ฯ เรื่อง การเทียบโอนผลลัพธ์การเรียนรู้และประสบการณ์ และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการนำเข้าสู่กระบวนการออกประกาศสำนักนายก ฯ ตามลำดับ