ประชุม สกศ. ครั้งที่ ๑/๖๔ ถกใหญ่ทลายไซโลในองค์กรต่อยอดวิสัยทัศน์ขับเคลื่อน OEC Policy ตลอดปีงบประมาณ ๒๕๖๔

image

วันนี้ (๑๖ มีนาคม ๒๕๖๔) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ) ประธานเปิดการประชุมขับเคลื่อนการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) และประชุม สกศ. ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ โดยรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ) ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.คมกฤช จันทร์ขจร) 
ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา (นายสวัสดิ์ ภู่ทอง) พร้อมคณะผู้บริหารสำนัก ข้าราชการ และบุคลากร สกศ. ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพ ฯ 

 


     ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ภายใต้ OEC POLICY ๔ เรื่องสำคัญครอบคลุม ๑) งานปฏิรูปการศึกษา ซึ่งมีการจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ๒) งานกฎหมาย มีการพิจารณากฎหมายที่ต้องมีการปรับปรุงหรือแก้ไข และกฎหมายที่ต้องจัดทำขึ้นใหม่เพื่อรองรับการดำเนินงานตามร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... (พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ) ๓) งานวิจัย โดย สกศ. มุ่งเน้นผลักดันงานวิจัยทางการศึกษาแปลงสู่การปฏิบัติ รวมทั้งเผยแพร่ในสื่ออย่างหลากหลาย และ ๔) งานนโยบายสภาการศึกษา มุ่งเน้นการทำงานตามนโยบายสภาการศึกษา นโยบายเชิงรุกของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และนโยบายของคณะกรรมการระดับชาติชุดต่าง ๆ เช่น กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) การพัฒนาเด็กปฐมวัย แผนการศึกษาแห่งชาติ ระบบธนาคารสะสมหน่วยกิต (Credit Bank) รวมทั้งประเด็นทางการศึกษาอื่น ๆ การหารือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันต้องได้รับความร่วม มือจากทุกสำนัก/ทุกลุ่มงาน ทลายไซโลทลายกรอบความคิดเดิม ๆ สร้างความเชื่อมโยงสามารถทำงานข้ามสายงาน มองเป้าหมายสู่ความสำเร็จเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน และบูรณาการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล ผลักดันขับเคลื่อน สกศ. ให้ได้รับการยอมรับจากทั้งในองค์กรเองและสังคมสาธารณะเป็นองค์กรชั้นนำที่ทุกคนกล่าวถึง

 


     เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวด้วยว่า สกศ. สนองนโยบายการขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๘๐ ผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์ด้วยองค์ความรู้ของ สกศ. ทำให้สามารถตอบโจทย์การจัดการศึกษาของชาติซึ่งอาจเป็นพฤติกรรมการเรียนรู้ของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจนกลายเป็นชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ด้านการศึกษาของประเทศที่มีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และทำให้มองเห็นประเด็นความท้าทายใหม่ ๆ ส่งผลให้ สกศ. ต้องเร่งปรับบทบาทการขับเคลื่อนงานที่มีผลความก้าวหน้าสอดคล้องต่อสถานการณ์ และเชื่อมโยงการจัดการปัญหาของรัฐบาลในมิติการพัฒนาการบริหารจัดการศึกษาเพื่อตอบโจทย์การศึกษาชาติภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) และจัดทำข้อเสนอนโยบายการศึกษาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การเตรียมความพร้อมผู้เรียนให้มีทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยี (Digital Literacy) ข้อเสนอหรือมาตรการส่งเสริมการเรียนการสอนบนแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ ข้อเสนอหลักสูตรหรือรูปแบบการเรียนออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพเป็นต้น สิ่งที่เกิดขึ้น สกศ. ต้องปรับตัวครั้งใหญ่มองสังคมรอบด้านและแสวงหาเครือข่ายความร่วมมือที่มีหลากหลายมาช่วยกันขับเคลื่อนงาน สกศ. ไปด้วยกัน

 


     ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ รับฟังการบรรยายแนวทางการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ของ สกศ. ความก้าวหน้าการปรับปรุงร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๕ - ๒๕๖๙ พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง ๘ สำนัก ๒ กลุ่มงาน ถึงความก้าวหน้าของผลการดำเนินงานสำคัญตามตัวชี้วัดของ สกศ. ในห้วงไตรมาส ๑ - ๒ และร่วมขับเคลื่อนงานกิจกรรมสำคัญของ สกศ. ในไตรมาสที่ ๓ - ๔ ของปีงบประมาณ ๒๕๖๔ 
     

     ประการสำคัญ สกศ. ต่อยอดขับเคลื่อนงานสำคัญมุ่งตอบโจทย์ประเด็นสำคัญด้านการศึกษาที่ต้องเร่งสร้างผลกระทบต่อสังคม (Big rock) หรือกิจกรรมปฏิรูปที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญทั้ง ๕ เรื่อง ประกอบด้วย ๑.การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ๒.การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ๓.การสร้างระบบการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพ ๔.การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีและระบบอื่น ๆ ที่เน้นการฝึกปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบ นำไปสู่การจ้างงานและการสร้างงาน และ ๕.การปฏิรูปบทบาทการวิจัยและระบบธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด