สกศ. เผยผลสำรวจสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ปี ๒๕๖๓ ยกระดับให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ

image

 

 

          วันนี้ (๑๑ มีนาคม ๒๕๖๔) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมพิจารณา (ร่าง) รายงานผลการติดตามการดำเนินงานตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ โดยการประชุมครั้งนี้มี รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) เป็นประธานการประชุม ฯ พร้อมด้วยผู้อำนวยการสำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย (นางสาวจันทิมา ศุภรพงศ์) และผู้แทนจากหน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สำนักการแพทย์ เข้าร่วมหารือ ณ ห้องภาณุรังสี เอ ชั้น ๑ โรงแรมรอยัลริเวอร์ บางพลัด

 

 

          ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า เนื่องด้วยรัฐบาลให้ความสนใจในการพัฒนาการศึกษาทุกช่วงวัย โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยที่เป็นรากฐานและกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ประกอบกับมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๒ ใช้เป็นมาตรฐานกลางในการปฏิบัติ และมอบหมายให้ สกศ. เป็นผู้ติดตามพร้อมรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานเป็นระยะ อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง ซึ่งการประชุมครั้งนี้ขอความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อเสนอเพื่อพัฒนารายงานผลการติดตามให้สมบูรณ์ และร่วมวางแผนการติดตามผลในปีถัดไป

 

 

          นางสาวจันทิมา ศุภรพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย สกศ. รายงานผลการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจมาตรฐานดังกล่าว โดยการมอบคู่มือให้หน่วยงานต้นสังกัดของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ในปี ๒๕๖๓ ดำเนินการสำรวจและติดตามการดำเนินงานตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ กว่า ๒,๕๐๐ แห่ง ให้มีความครอบคลุมทั้ง 3 มาตรฐาน คือ ๑) การบริหารจัดการสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ๒) ครู/ผู้ดูแล ให้การดูแลและจัดประสบการณ์การเรียนรู้และการเล่น เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย และ ๓) ด้านคุณภาพของเด็กปฐมวัย ซึ่งพบปัญหาและอุปสรรคจากข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพ นำมาวิเคราะห์ เชื่อมโยงสู่แนวทางขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ มีสาระน่าสนใจ อาทิ ครูปฐมวัยไม่ครบชั้นเรียน และไม่จบการศึกษาในสาขาการศึกษาปฐมวัย/อนุบาลศึกษา ประกอบกับงบประมาณสำหรับการพัฒนาเด็กปฐมวัยไม่เพียงพอ ทั้งในด้านสื่อการเรียนการสอน วัสดุครุภัณฑ์ และครูผู้ดูแลเด็ก

 

 

          โดยเฉพาะสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-๑๙) ยิ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรฐานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ เนื่องจากพื้นที่จัดการเรียนการสอนถูกปิด ตามมาตรการเว้นระยะห่างและควบคุมการระบาดของโรค และดำเนินการสอนแบบ Online โดยให้ผู้ปกครองส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยที่บ้าน กลับพบว่าผู้ปกครองบางส่วนไม่สามารถให้ความร่วมมือได้

 

 

          ที่ประชุมทราบผลการดำเนินงานและสภาพจริง จึงวางแผนการทำงานในไตรมาสที่ ๓ (เมษายน-มิถุนายน) ในการจัดเก็บข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่สำรวจสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่ปฏิบัติตามมาตรฐาน ฯ เข้าระบบฐานข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้ ๑) จำนวนสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในทุกสังกัดที่นำมาตรฐาน ฯ ไปใช้ ๒) ผลการประเมินตนเองของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ๓) จำนวนครูและผู้ดูแลที่สอนในระดับปฐมวัย รวมถึงข้อมูลวุฒิการศึกษาที่สำเร็จการศึกษา

 

 

          จากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอความก้าวหน้าประเด็นสำคัญ เช่น ในปี ๒๕๖๕ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมโครงการสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา และเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ, กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ดำเนินการให้คำแนะนำ (Coaching) สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในสังกัดเป็นระยะ ปีละ ๒ ครั้ง เพื่อกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน เป็นต้น

          อย่างไรก็ตาม ภายหลังการหารือจะดำเนินการรวบรวมความก้าวหน้าและข้อเสนอแนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอรายงานดังกล่าว ต่อคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (ดร.วิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน ในไตรมาสที่ ๔ (กรกฎาคม-กันยายน) เพื่อยกระดับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีผลการประเมินตนเองต่ำกว่ามาตรฐาน สามารถใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติต่อไป

 

 

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด