สกศ. หารือ Stakeholders ถกแนวคิดพัฒนากฎหมายส่งเสริมการมีงานทำในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ
วันนี้ (๓ มีนาคม ๒๕๖๔) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ) ประธานเปิดการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการจัดทำข้อเสนอกฎหมายเพื่อส่งเสริมการมีงานทำในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
โดยรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา (นายสวัสดิ์ ภู่ทอง) ผู้แทนด้านกฎหมายองค์กรในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสังเคราะห์แนวทางชัดเจนยิ่งขึ้น ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ. สนองนโยบายคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เดินหน้าขับเคลื่อนและสานต่อนโยบายเพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาไปสู่ตัวผู้เรียนโดยตรง
ภารกิจสำคัญ สกศ. คือติดตาม กำกับ และเร่งผลักดันพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. (พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ) ที่ได้ผ่านการเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ซึ่งการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทั้งใน ศธ. และหน่วยเกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมพิจารณากรอบข้อเสนอเชิงนโยบายด้านกฎหมายเพื่อส่งเสริมการมีงานทำในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำเป็นต้องเปิดกว้างรับฟังสภาพปัญหาและความก้าวหน้าในการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตและโลกยุคดิจิทัลที่รูปแบบการเรียนรู้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เพื่อจัดการศึกษาสอดคล้องการมีงานทำปรับเปลี่ยนให้เท่าทันวิถีการเรียนรู้ใหม่ (New Normal)
สาระสำคัญจากการหารือร่วมกันเพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๕๔ จ และสอดคล้องกับแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) อว. และ รง. ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความก้าวหน้าการขับเคลื่อนนโยบายและผลดำเนินการพัฒนาและเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนควบคู่กันทั้งทักษะวิชาการ ทักษะอาชีพและทักษะชีวิต
ดังนั้น ควรเร่งส่งเสริมในหลายมิติผ่านกระบวนการแนะแนว การจัดการเรียนการสอน การเสริมทักษะอาชีพและการสร้างเสริมประสบการณ์อาชีพที่มีความหลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนใช้ตัดสินใจและวางแผนการศึกษาต่อ
หรือการประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนมุมมองการเตรียมความพร้อมเข้าสู่โลกอาชีพและสามารถสร้างอาชีพให้สอดคล้องกับบริบทในภูมิลำเนาจำเป็นต้องใช้กลไกท้องถิ่นหรือ อปท. เป็นสำคัญในการยกระดับการขับเคลื่อนงานสร้างการมีงานทำทั่วประเทศ
อย่างไรก็ดี ศธ. ได้กำหนดยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการและรองรับการพัฒนาประเทศ มุ่งพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพและมาตรฐานสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ผู้เรียนและผู้สำเร็จการศึกษามีสมรรถนะตรงความต้องการของตลาดแรงงานภายในประเทศ เรียนจบแล้วต้องมีงานทำ รองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาล ให้มีความเพียงพอและตรงความต้องการของสถานประกอบการ มีขีดความสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
ภายใต้แนวทางการพัฒนากำลังคนที่มีประสิทธิภาพ ภาคผู้ประกอบการและภาคการศึกษาต้องมีฐานข้อมูลการผลิตและพัฒนาผู้เรียนให้เชื่อมโยงกับความต้องการจำเป็นในพื้นที่ของจังหวัดและอำเภอสอดคล้องตรงทิศทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งต้องพึ่งพาภาคประชาสังคมทั้งสถานประกอบการ และกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา มีการบูรณาการการเรียนรู้คู่ไปกับการทำงานและร่วมกับสถานประกอบการหรือกลุ่มอาชีพที่มีความหลากหลาย
ทั้งนี้ สกศ. จะได้สรุปแนวคิดและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เพื่อการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ และวางกรอบจัดทำข้อเสนอกฎหมายเพื่อส่งเสริมการมีงานทำในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพต่อไป