สกศ. หารือองค์กรหลัก มุ่งวิเคราะห์ “แนวทางการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ”
วันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2564) ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ พร้อมนายกวิน เสือสกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) (สคช.) นายสุรัตน์ ปาละนันทน์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ดร.ชยพร กระต่ายทอง ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาหลักสูตรและมาตรฐานการเรียนรู้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นางสาวเพ็ญนภา ไพรบูรณ์ หัวหน้ากลุ่มจัดการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และผู้แทนทั้ง 5 หน่วยงาน
สกศ. ร่วมกับองค์กรหลักทางด้านคุณวุฒิการศึกษา และคุณวุฒิวิชาชีพในการขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดเน้นที่สำคัญประการหนึ่ง คือ “การพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ ตามหลักการของกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ในการเชื่อมโยงสมรรถนะกำลังคนที่อยู่ในตลาดแรงงานกับผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน”
ในการดำเนินการดังกล่าว สกศ. ได้ศึกษา วิเคราะห์ความเชื่อมโยง และแนวทางความร่วมมือในการนำมาตรฐานสมรรถนะ หรือมาตรฐานอาชีพ ที่จัดทำโดย สคช. และมาตรฐานฝีมือแรงงาน ที่จัดทำโดย กพร. กระทรวงแรงงาน เชื่อมโยงกับการจัดเวลาเรียนตามโครงสร้างเวลาเรียนพื้นฐาน ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ (active learning) ของสถานศึกษาในสังกัด สพฐ. รวมถึงการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบห้องเรียนอาชีพ ของสถานศึกษาในสังกัด สอศ.
ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน อาทิ
- มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากสื่อ และช่องทางการเรียนรู้ที่มี เช่น หลักสูตรวิชาชีพออนไลน์ของ สคช. ที่ยึดโยงตามมาตรฐานอาชีพ และเข้าถึงได้ง่าย
- ใช้เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอาชีพของ สคช. มาช่วยเป็นผู้สอน/วิทยากรให้กับสถานศึกษา
- ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในสังกัด กพร. ในระดับจังหวัดกับสถานศึกษา ในการร่วมกันออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้
- คัดเลือกผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ไม่ได้ศึกษาต่อ เพื่อฝึกอาชีพ และจ้างงาน เพื่อฝึกอบรมใน “หลักสูตรการฝึกเพื่อเตรียมเข้าทำงาน” โดยฝึกภาคทฤษฎีและปฏิบัติที่หน่วยงานในสังกัด กพร. 2 เดือน และฝึกงานในสถานประกอบการ 1 เดือน
- ทดสอบเพื่อรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน (มรช.) ในกลุ่มผู้เรียนในระดับอาชีวศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. ปวส.
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นพ้องกันในการส่งเสริมบทบาทของการแนะแนวอาชีพ โดยอาศัยเครือข่ายของหน่วยงานในสังกัด กพร. สถานศึกษาในสังกัด สพฐ. และกรมการจัดหางาน เป็นภาคีหลักใoการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่