สกศ. วิพากษ์งานวิจัยเร่งยกระดับจัดการเรียนรู้ผู้สูงอายุ สังเคราะห์กลไกชุมชน-ท้องถิ่นตอบโจทย์ Active Aging

image

  วันนี้ (๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) ร่วมประชุมคณะทำงานจัดทำแนวทางและข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุอย่างมีส่วนร่วม ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ ที่มี ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ เป็นประธานโดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)


     ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการดำเนินงานสังเคราะห์งานวิจัยผู้สูงอายุในประเทศไทย ระหว่างปี ๒๕๕๘ - ๒๕๖๓ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มิ่งขวัญ คงเจริญ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) รายงานสรุปสาระสำคัญผ่านมุมมองการลงพื้นที่ทำวิจัย "เกษียณคือพลัง" ภายใต้หลักคิดเตรียมความพร้อมทุกคนรองรับการเกษียณตั้งแต่อายุ ๔๐ ปี เป็นต้นมา รัฐบาลขับเคลื่อนงานผ่านโครงการศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) มาตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ ซึ่งมีภารกิจกว้างขวางและหลากหลายปรากฏอุปสรรคจากหลายปัจจัย ในขณะที่ภาวะประชากรผู้สูงอายุ ส่งผลกระทบต่อสภาพทางสังคม สภาวะเศรษฐกิจ และการจ้างงาน ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรทางสุขภาพและสังคมของประเทศอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

 


     ทั้งนี้ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องหลายชิ้น พบมีแนวโน้มการจัดตั้ง "โรงเรียนผู้สูงอายุ" ที่ใช้ฐานชุมชนท้องถิ่นเป็นฐานการพัฒนาผู้สูงสัยในท้องถิ่น ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ในพื้นที่ช่วยขับเคลื่อนเพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นและพัฒนาศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ที่ผู้สูงอายุต้องมุ่งเน้นด้านสุขภาพ เช่น โภชนาการ รับประทานอาหารที่เหมาะสมกับวัย

 


     ความรู้ที่ผู้สูงอายุควรรู้คือ สภาพสังคมปัจจุบัน เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี รวมทั้งแนวทางการดำเนินชีวิตในวัยชรา ทั้งการเรียนรู้เทคโนโลยีช่วยการสื่อสารสำหรับผู้สูงอายุ (Social media) กฎหมาย สิทธิและสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ สัจธรรม ชีวิตและความตาย และศาสตร์พระราชา "เศรษฐกิจพอเพียง" 


     รวมทั้งความรู้ที่ผู้สูงอายุอยากรู้เป็นแนวทางการส่งเสริมประกอบอาชีพ กิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ เพื่อความผ่อนคลาย อาทิ กิจกรรมการเต้นลีลาศเพื่อสุขภาพ รวมทั้งการทัศนศึกษาภายนอก และมีการร่วมกันทำกิจกรรมจิตอาสา ซึ่งแสดงถึงศักยภาพและความสามารถ ศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุที่พร้อมจะทำกิจกรรมเพื่อสังคม 


     สะท้อนชัดเจนว่าความรักและความเข้าใจจากผู้นำชุมชนและคนในท้องถิ่นคือกลไกสำคัญในการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุมีชีวิตที่มีคุณภาพครอบ ๓ ประเด็น ๑) มีสุขภาพดี ๒) มีส่วนร่วม และ ๓) มีความมั่นคง เสริมสร้างให้เกิดความสุขในการเรียนรู้ที่แสดงถึงภาวะสุขสมบูรณ์ของผู้สูงอายุ และเป็นเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ (Active Aging) ซึ่งเปิดกว้างในรูปแบบที่หลากหลายไม่ยึดติดกับคำว่า "โรงเรียนผู้สูงอายุ" แต่ควรเป็น "พื้นที่การเรียนรู้" ร่วมกันของผู้สูงอายุในแต่ละพื้นที่ โดยความร่วมมือบูรณาการจากทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษาให้ตรงความต้องการที่แท้จริงของผู้สูงอายุ


     นอกจากนี้ ยังได้อภิปรายร่วมกันถึงหลักสูตรการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ มุ่งเน้นเสริมสร้างสมรรถนะผู้สูงอายุที่เข้มแข็งในการดำรงชีวิตและมีปฏิสัมพันธ์กับชุมนุมรอบตัว โดยมีข้อเสนอสำคัญควรขับเคลื่อนร่วมกันทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการเร่งพัฒนาอัตลักษณ์โรงเรียนผู้สูงอายุ ยกระดับพัฒนาให้เป็น "พื้นที่การเรียนรู้" ของคนในชุมชน เผยแพร่ภูมิปัญญาองค์ความรู้จากผู้สูงอายุสู่สาธารณะ เสริมสร้างปฏิสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องระหว่างโรงเรียนผู้สูงวัยกับผู้สูงวัย ขณะที่ภาครัฐต้องเร่งอำนวยความสะดวกและส่งเสริมสนับสนุนทั้งด้านนโยบาย งบประมาณ โครงการ/กิจกรรม สำหรับโรงเรียนผู้สูงอายุที่มีความต่อเนื่องและเกิดความยั่งยืน


     ที่ประชุมยังหารือเพื่อเตรียมการประชุมคณะทำงาน ฯ สัญจรศึกษาดูงานในพื้นที่จังหวัดสงขลา อาทิ โรงเรียนผู้สูงอายุ ชมรมผู้สูงอายุเทศบาลเมืองสะเดา โรงเรียนผู้สูงอายุ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุเทศบาลตำบลระโนด และศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา โดยประชุมระดมความคิดเห็นในการจัดทำแนวทางและข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุอย่างมีส่วนร่วมกับหน่วยงานและบุคลากรในพื้นท้องถิ่น เพื่อสรุปความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์นำมาสังเคราะห์พัฒนาสู่การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุอย่างมีส่วนร่วมที่มีคุณภาพในลำดับต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด