ก้าวผ่านสู่ปีที่ ๖๓ สกศ. ชี้นำคุณภาพคนสะท้อนคุณภาพประเทศ ต่อยอดวิถีเรียนรู้ New Normal ปฏิรูปการศึกษาไร้ที่สิ้นสุด

image

   วันนี้ (๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) หน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการจัดทำนโยบายและมาตรฐานการศึกษาของประเทศไทย จัดงานเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนา สกศ. ครบรอบ ๖๒ ปี ระลึกถึงความสำคัญและบทบาทของหน่วยงาน ในฐานะ "เสนาธิการด้านการศึกษา" ประเทศไทย 

 

     ภาคเช้ามีพิธีบวงสรวงและพิธีสงฆ์ ทอดผ้าสดัปกรณ์ เจริญพระพุทธมนต์ และถวายภัตตาหารเพล โดยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ) ที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา (นายสวัสดิ์ ภู่ทอง) ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (นายคมกฤช จันทร์ขจร) พร้อมอดีตเลขาธิการสภาการศึกษา ผู้บริหาร ข้าราชการและบุคลากร สกศ. ร่วมพิธีพร้อมเพรียง

 


     สกศ. ก้าวผ่านเดินหน้าสู่ปีที่ ๖๓ ในยุคเปลี่ยนผ่านดิจิทัลภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) เพื่อชี้นำและเพิ่มศักยภาพองค์กรสู่หน่วยชั้นแนวหน้าด้านนโยบายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระดับชาติเป็นองค์กรที่ต้องเข้มข้นและเข้มแข็งยิ่งขึ้น 


     ที่ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สกศ. พร้อมหน้าด้วยเลขาธิการสภาการศึกษา อดีตเลขาธิการสภาการศึกษา ผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากร สกศ. ร่วมการเสวนา "อนาคตการศึกษาไทยในยุค Disruption" ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา คนที่ ๘ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา คนที่ ๑๔ และ ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ อดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมอภิปรายตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-๑๙ อย่างเคร่งครัด โดยดำเนินการถ่ายทอดสดออนไลน์วิถี New Normal ผ่านทาง Facebook live : OEC News สภาการศึกษา เพื่อขยายการรับรู้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้คู่ขนานไปกับผู้ติดตามการเสวนาจากทั่วประเทศ


     ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนาคนพัฒนาคุณภาพประเทศ ทุกคนทุกหน่วยงานจึงมีส่วนสำคัญในการพัฒนา ความคิดเห็นที่หลากหลายและชัดเจนจะนำไปสู่กระบวนการความร่วมมือที่มีเอกภาพ สกศ. ก้าวผ่านวิถีใหม่การศึกษาไทยที่มุ่งเน้นชี้นำคุณภาพคนเท่ากับสะท้อนคุณภาพประเทศ ต่อยอดวิถีเรียนรู้ New Normal สานพลังทุกฝ่ายทั้งรัฐ-ประชาสังคมร่วมออกแบบนวัตกรรมการศึกษาเพื่อตอบโจทย์ชีวิตและพลวัตแห่งอนาคต เรียนเชิญทุกฝ่ายมาร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาไทยไปพร้อมกัน โดยพร้อมรับฟังและร่วมมือเรียนรู้ไปกับทุกฝ่ายและหลอมรวมความคิดต่อยอดพัฒนานโยบายและปฏิรูปการศึกษาพร้อมกัน


     ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา คนที่ ๘ กล่าวว่า ต้องตีความหมาย Disruption ให้รอบด้านครอบคลุมทุกมิติ เพราะมีความหมายใหญ่โตกว้างขวางหมายรวมถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันที่ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีเท่านั้น แต่ทำให้สิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน บริบทดังกล่าวทำให้แนวคิดเปลี่ยนไปหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น "ห้องเรียน" ที่ไม่ใช่แค่ห้องสี่เหลี่ยมอีกต่อไป เพราะความรู้ไม่มีพื้นที่จำกัดและแสวงหาได้อย่างกว้างไกล 


     การจัดการศึกษาวิธีเรียนรู้จึงเปลี่ยนไปเด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากสิ่งรอบตัว สมัยเป็นเลขาธิการสภาการศึกษา สัมผัสแนวทางปฏิรูปการศึกษาซึ่งคนมักเห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นเหมือนยาหม้อใหญ่องค์ความรู้รวมอยู่จุดเดียวแต่ความจริงมิติการเรียนรู้เปลี่ยนไปแล้ว ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่องแต่ต้องหันมาเรียนรู้สิ่งรอบตัวในท้องถิ่นใกล้ตัวมากขึ้น และไม่ตีกรอบแค่เวลา ๘ ชั่วโมงในโรงเรียนอีกแล้ว ต้องระเบิดฝาห้องเรียนออกไป การศึกษาวิถีใหม่ New Normal ที่มีทั้งการเรียนในห้องปกติ (Onsite) และการเรียนจากบ้าน (Online) เปิดกว้างขึ้นแต่ต้องปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการผู้เรียนด้วย 

 


     ดังนั้น ต้องฟังเสียงจากผู้ใช้หลักสูตรด้วย ปรับเปลี่ยนแนวคิด Mindset รวมทั้ง "ครู" ต้องเป็นผู้คอยสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กแต่ตัวครูเองต้องเรียนรู้โลกรอบตัวด้วย ใส่ใจวิถีชีวิต สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ผลสัมฤทธิ์ความเป็นครูคือ "ผู้เรียน" ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ มีภูมิคุ้มกันตนเองเติบโตอย่างมีคุณภาพ ทั้งระบบการศึกษาและการผลิตและพัฒนาครูปัจจุบัน บัณฑิตที่จบการศึกษาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ต้องปรับตัวสอดรับสภาพสังคมวิถีใหม่ ต้องทะลายกำแพงผูกขาดความเป็นครูที่ไม่ใช่แค่สาขาครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เท่านั้นแต่ต้องเปิดกว้างสาขาอื่นมาช่วยพัฒนา


     ประชากรไทยมีความเปลี่ยนแปลงไปคนเกิดมีแนวโน้มลดลงทุกปีแต่มีการแข่งขันสูงขึ้น การจัดการศึกษาจึงต้องสร้างประสิทธิภาพ แนวคิดควบรวมโรงเรียนเพื่อสร้างคุณภาพการศึกษาที่เข้มแข็งมีมานานแต่ปัจจุบันทั้งที่เป็นเรื่องพูดคุยกันมานานมากแล้วแต่ยังไม่ได้ข้อยุติ
ในอีกมุมมองการเปลี่ยนผ่านของสังคมผ่านการเมือง ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงช่วงอายุคน ๓ ช่วงวัย ๕๐ ปี ขึ้นไปมีความสุขกับสิ่งเดิม ๆ ไม่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลง 


     ส่วนกลุ่มอยู่ตรงกลางอายุระหว่าง ๓๑ - ๔๙ ปี กลุ่มนี้กำลังตั้งตัวมุ่งมั่นกับการทำงานสร้างครอบครัวจึงไม่สนใจภาวะรอบตัวมากนัก ขณะที่ช่วงอายุต่ำกว่า ๓๐ ปี กลุ่มนี้มีวิธีเข้าถึงเรื่องราวคนละชุดความคิดกับคนวัยก่อน กำลังเร่งสร้างความฝัน ความคาดหวังที่มีความเป็นสากลเป็นวิถีที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างฝันให้เป็นจริง การจัดการศึกษาสมัยใหม่จึงต้องรับรู้และเข้าใจแนวคิดและความแตกต่างทางความคิดเหล่านี้ด้วยเพื่อตอบสนองการพัฒนาอย่างตรงจุดและเป้าหมาย บรรยากาศในสถานศึกษาจึงไม่เหมือนเดิม สื่อสังคมออนไลน์ เช่น Twitter Facebook เป็นช่องทางสื่อสารที่ต้องจับตาผลสะท้อนความคิดของคนรุ่นใหม่ เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้นวมไปถึงภูมิทัศน์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป การแข่งขันทางการเมืองและเศรษฐกิจของชาติมหาอำนาจทั้งสหรัฐและจีนทำให้โลกเปลี่ยนไป การศึกษาต้องตามไล่ให้ทัน


     ภาพรวมการศึกษาไทยทั้งครู หลักสูตร การจัดการศึกษา มีคำถามเกิดขึ้นมากมายถึงบริบทการศึกษาที่ปิดกั้นคุยกันแต่ในเรื่องโครงสร้าง การบริหารจัดการระบบทั้งหลาย สกศ. ต้องมองปัญหาใหญ่ หลักสูตรที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ ผ่านมา ๒๐ ปีแล้วล้าหลังมากต้องเปลี่ยนให้ทันสมัยสอดรับสถานการณ์ทั่วโลก ไม่ใช่แช่แข็งห้องเรียนไว้เหมือน ๕๐ ปีก่อน ทั้งที่มีการเรียนออนไลน์และการพัฒนาของปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเปลี่ยนผ่านการศึกษาไม่ใช่การท่องจำแต่เป็นการพัฒนาคนให้เต็มศักยภาพ 


     ความสามารถและความฝันแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต้องให้และสร้างโอกาสการการเรียนรู้ที่มีอยู่มากมาย คำถามเชิงท้าทายคือ "หลักสูตร" การศึกษาไม่ได้สอนให้คนเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) ทว่าส่งเสริมแต่โตขึ้นมาเป็นลูกจ้าง พ่อแม่ฝากความฝันไว้กับลูกที่ยังไม่รู้จักตัวตนและอาชีพที่อยากทำซึ่งเป็นอาชีพที่แตกต่างไม่เหมือนในอดีต จึงต้องสร้างวิธีคิดใหม่นอกกรอบความคิดเดิม เปิดโอกาสทั้งความคิด สนับสนุนทุนการศึกษาทรัพยากรทางการศึกษาอย่างกว้างขวางและตอบสนองความต้องการของผู้เรียนอย่างแท้จริง

     


     ขณะที่ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา คนที่ ๑๔ กล่าวว่า สกศ. เป็นหน่วยงานแห่งภูมิปัญญาด้านการศึกษาของประเทศ แวดวงคนมีความรู้มีคุณธรรม อยากถ่ายทอดมิติทางการเมืองซึ่งอนาคตการศึกษาไทยควรมองถึง ๓ เรื่องสำคัญ ๑.การศึกษาไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากสังคมอีกต่อไป ทุกคนสามารถจัดการศึกษาเองได้ ผลผลิตบัณฑิตที่จบการศึกษายังทำงานไม่ได้แต่ต้องมีการฝึกงานก่อนจึงสามารถเริ่มทำงานได้ สาเหตุเพราะยังขาดทักษะการทำงาน ไม่เชื่อมั่นในหลักสูตรและการเรียนการสอนที่ยังเหมือนเดิม ใช้เทคโนโลยีไม่คุ้มค่าทั้งที่มีผลกระทบจากโควิด-๑๙ จนต้องเรียนออนไลน์แต่ยังขาดโครงข่ายรองรับ ครูไม่สามารถใช้สื่อการสอนดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขาดการเรียนรู้ทั้งเนื้อหาและการจัดการเรียนการสอน วิสัยทัศน์การศึกษาไทยยังไม่ชัดจึงกระทบความเชื่อมั่นระบบการจัดการศึกษา ข้าราชการเลือกทำเฉพาะบางเรื่อง แผนการศึกษาแห่งชาติยังไม่สามารถชี้นำทางได้คมชัด แผนยังขาดการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ 

 

 


     ๒.การเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีและผลกระทบโรคระบาดโควิด-๑๙ ทำให้ห้องเรียนเปลี่ยนไปไม่ใช่ห้องสี่เหลี่ยม โลกอนาคตเชื่อมโยงกันทุกที่ด้วยระบบการสื่อสารออนไลน์  ความยากจนและการปิดเรียนเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกสร้างผลกระทบอย่างกว้างขวาง และ ๓.นิยามหรือภาพจำการศึกษาเปลี่ยนไปจากคนรุ่นก่อน จากเดิมต้องเรียนในโรงเรียนแต่ทุกวันนี้สามารถเรียนออนไลน์ได้จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก บางวิชาไม่จำเป็นต้องเรียนตามเวลาที่กำหนด เลือกเรียนได้อิสระ ปัจจุบันไม่กล้ารื้อระบบการศึกษาใหม่ ยังคงแข็งตัวและยึดติดรูปแบบเดิมผลลัพธ์การศึกษาไทยจึงไม่พัฒนาเท่าที่ควร การจัดการเรียนรู้ประสบการณ์สำหรับผู้เรียนให้ได้เรียนรู้จากสถานที่จริงมีความเหมาะสมกว่า ถึงเวลาต้องปรับใหม่ทั้งครู แนวคิดใหม่ต้องก้าวทันความเปลี่ยนแปลง 


     ภาพอนาคตนโยบายการศึกษา มีข้อเสนอถึงบทบาทของ สกศ. เร่งขับเคลื่อนงาน ๔ ข้อ ๑.สร้างสังคมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นจริง รู้จักรับฟังความคิดเห็นคนส่วนใหญ่และตอบสนองความต้องการนั้นอย่างตรงจุดเพื่อสร้างการศึกษาอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รัฐมีวิสัยทัศน์การศึกษาที่ชัดเจน ๒.หลักสูตรการศึกต้องปรับใหญ่ให้สอดคล้องการพัฒนาประเทศในทุกระดับตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน ยกระดับพัฒนาทักษะที่จำเป็น สร้างนวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศ 


     ๓.ส่งเสริมและสร้างนวัตกรรมด้านการศึกษาให้เกิดขึ้นจริง ต่อยอดจากงานวิจัย สกศ. เช่น กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) ระบบธนาคารสะสมหน่วยกิต (เครดิตแบงก์) รูปแบบการเรียนออนไลน์ สร้างสื่อการเรียนการสอนทันสมัย สร้างผลกระทบจริงและใช้ได้ผลจริง และ ๔.เร่งขับเคลื่อนพัฒนากระบวนการจัดการศึกษาอย่างครบวงจรแปลงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมสัมผัสได้ สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนร่วมคิดร่วมทำร่วมขับเคลื่อนการศึกษาในทิศทางเดียวกันสร้างให้เป็นวาระแห่งชาติที่ส่งผลกระทบระดับชาติและเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ


     ท้ายที่สุด ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ อดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวสรุปชัดเจนว่า การศึกษาคือการพัฒนาคนตามศักยภาพและอัธยาศัย สร้างโอกาสการเรียนรู้มากขึ้นและทั่วถึง การศึกษาต้องสร้างอาชีพและตอบสนองการดำรงชีวิตได้ ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมทั้งคิด ทำ รับผลประโยชน์ ฟังเสียงทุกฝ่ายทั้งเด็ก ผู้ปกครอง ครู กระจายอำนาจการศึกษาสู่ท้องถิ่นและชุมชนมากขึ้น ปรับหลักสูตรใหม่ให้สอดรับการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน รูปแบบการเรียนรู้ต้องหลากหลาย ไม่มีความรู้ใดดีที่สุดแต่ปรับที่ทัศนคติทั้งจากข่าวสารรอบตัวและประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำจริง ออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทั้งหมดคือจุดเริ่มต้นสำคัญที่เป็นประโยชน์อย่างสูง โดย สกศ. น้อมรับข้อเสนอดังกล่าวไปขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด


     นอกจากเสวนาออฟไลน์ในห้องประชุมแล้ว อดีตเลขาธิการสภาการศึกษา ๖ ท่าน อาทิ ดร.พนม พงษ์ไพบูลย์ เลขาธิการสภาการศึกษา คนที่ ๔ ดร.รุ่ง แก้วแดง เลขาธิการสภาการศึกษา คนที่ ๗ ดร.เอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ เลขาธิการสภาการศึกษา คนที่ ๑๐ ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน เลขาธิการสภาการศึกษา คนที่ ๑๓ ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา คนที่ ๑๕ และดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา คนที่ ๑๕ ทั้งหมดคือผู้สร้างผลงานและชื่อเสียง สกศ. ยังได้ถ่ายทอดมุมมองและแนวคิดส่งผ่านคลิปสั้นถึงชาว สกศ. เดินหน้าพัฒนาระบบการศึกษาไทยอย่างตรงจุด

 

   ทั้งนี้ ผลผลิตด้านนโยบายของ สกศ. ที่ผ่านการอนุมัติเห็นชอบจากสภาการศึกษา (กกส.) จากอดีตและส่งกระทบต่อเนื่องปัจจุบันนั้น ผลการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าหลายเรื่องประสบความสำเร็จ แต่ยังมีปัญหาอีกหลายเรื่องต้องเร่งพัฒนาปรับปรุงและต่อยอด โดยเฉพาะด้านคุณภาพผู้เรียน ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ รวมทั้งการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ซึ่งพบว่ามีสถานศึกษาจำนวนมากไม่ได้มาตรฐาน ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ต่ำ ขาดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ทั้งการคิด วิเคราะห์ ใฝ่เรียนรู้และแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งด้านคุณธรรมและจริยธรรม 


     ขณะที่ด้านครู อาจารย์ พบว่า มีปัญหาขาดแคลนครู อาจารย์ที่มีคุณภาพ ในด้านการบริหารจัดการพบว่า ยังไม่มีการกระจายอำนาจการบริหารจัดการสู่สถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามเป้าหมาย รวมทั้งยังขาดการมีส่วนร่วมในการบริหารและจัดการศึกษาจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง 


     สกศ. ยังเกาะติดผลการพัฒนาการศึกษาต่อไปทั้งระยะครึ่งแผน ฯ และเมื่อสิ้นสุดแผน ฯ ที่เกิดจากการดำเนินงานที่แผนวางไว้ในแต่ละฉบับ ตลอดจนปัญหา อุปสรรค เพื่อนำผลที่ได้ไปใช้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษาให้แก่ ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประการสำคัญเพื่อนำไปใช้ในการวางแผนการพัฒนาการศึกษาในระยะต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด