เลขาธิการสภาการศึกษา ย้ำพลิกวิกฤตเป็นโอกาสใช้ผลวิจัย สกศ. ชี้นำเรียนรู้ New Normal เปลี่ยนโฉมใหม่ปฏิรูปการศึกษาชาติ

image

   วันนี้ (๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ) ประธานเปิดการประชุมสัมมนา "รูปแบบการจัดการเรียนรู้สำหรับนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-๑๙" โดยรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) ผู้แทนฯหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อยอดงานวิจัยให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธการสภาการศึกษา (สกศ.)


     ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า 
สกศ. ร่วมมือกับคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ดำเนินการวิจัยศึกษารูปแบบการจัดการเรียนสำหรับนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ซึ่งส่งผลต่อระบบการศึกษาเป็นอย่างมากในช่วงการระบาดโควิด-๑๙ รอบแรกตั้งแต่เดือนมีนาคม - ธันวาคม ๒๕๖๓ ทำให้ต้องปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ให้เหมาะสม 

     เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวย้ำว่า สถานการณ์โควิด-๑๙ แม้จะเป็นวิกฤตแต่ก็ถือเป็นโอกาสที่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้รองรับการเรียนรู้วิถีใหม่ (New Normal) ที่ส่งผลกระทบถึงแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่ต้องเปลี่ยนไปด้วย โดย สกศ. ใช้งานวิจัยรองรับและแปลงสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง พร้อมเปิดกว้างรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสรุปเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายรายงานต่อที่ประชุมสภาการศึกษา (กกส.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ) เป็นประธาน เพื่อหารือเพิ่มเติมถึงการปรับปรุงระบบการศึกษาและการจัดการเรียนรู้ที่มีความเหมาะสมในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-๑๙ รอบปัจจุบัน

 

 

     สาระสำคัญงานวิจัยนี้ รองศาสตราจารย์เก็จกนก เอื้อวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัย ฯ สรุปความข้อค้นพบ ๔ เรื่องสำคัญที่ควรถอดบทเรียนถ่ายทอดสู่สาธารณะเพื่อหาทางออกร่วมกันอย่างตรงจุดพบว่า ๑.ผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอนคือกลไกสำคัญที่ต้องรู้จักเลือกการใช้รูปแบบการเรียนอย่างสอดคล้องและยืดหยุ่นตามความรุนแรงของการระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ สามารถผสมผสานทุกรูปแบบการเรียนในห้องปกติ (Onsite) ในพื้นที่ไม่มีการแพร่ระบาด การสอนออนไลน์ (Online) สอนผ่านโทรทัศน์ทางไกล (On air) รวมทั้งการไปเยี่ยมบ้านและกำหนดใบงานแก่นักเรียน (On hand) เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน             

     ๒.ครู-ผู้ปกครอง-นักเรียน ต้องร่วมกันปรับตัวเพื่อให้สามารถเรียนได้อย่างต่อเนื่องในสถานการณ์ที่ต้องเรียนออนไลน์ที่บ้านและกลับมาเรียนตามปกติเมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดลดความรุนแรงลง ขณะที่กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ครอบคลุมถึงการศึกษาทั้งระบบต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับรูปแบบที่ซับซ้อนมากขึ้นและเร่งจัดเตรียมงบประมาณ และอุปกรณ์ให้แก่นักเรียนที่มีความเสี่ยงที่จะเสียโอกาสจากการเรียนทางไกล เพราะไม่มีอุปกรณ์ดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตที่บ้านหรือไม่มีไฟฟ้าใช้ ควรใช้โอกาสนี้เก็บข้อมูลเพื่อวางแผนให้การสนับสนุนเพิ่มเติมแก่ครอบครัวที่ผู้ปกครองไม่พร้อมสนับสนุนบุตรหลานกรณีที่ต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน 

     ๓.ต้องสร้างการสื่อสารทำความเข้าใจให้ตรงกันถึงนโยบายและมาตรการสนับสนุนการเรียนรู้แก่บุตรหลานในสถานการณ์โควิด-๑๙ เพื่อให้ผู้ปกครองรับทราบแนวทางที่ชัดเจนของรัฐบาลในการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน แนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้นอาจจัดทำคู่มือการใช้สื่อการเรียนรู้ วิธีการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลเพื่อเรียนออนไลน์ เป็นต้น  

     และประการสำคัญ ๔.ผู้บริหาร ครู รวมถึงผู้ปกครอง อยากให้รัฐบาลมีแผนรองรับการจัดการเรียนรู้วิถีใหม่ (New Normal Learning) โดยพร้อมประกาศใช้อย่างทันสถานการณ์ ซึ่งทุกฝ่ายมีความเข้าใจระดับหนึ่งถึงการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ทั้งผ่านการสั่งงานผ่านโซเชียล มีเดีย ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ผ่านการสอนออนไลน์ หรือให้ใบงานแก่นักเรียน ดังนั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาแพลตฟอร์มที่เข้าถึงง่ายในทุกพื้นที่ และจัดให้นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม 

     ที่ประชุมยังได้อภิปรายร่วมกันถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ ถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนรู้สำหรับนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-๑๙ โดยดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับรองศาสตราจารย์ ดร.องอาจ นัยพัฒน์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ซึ่งได้รับความสนใจติดตามการประชุมผ่านระบบออนไลน์จากผู้แทนสถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา สถาบันอุดมศึกษา ฯลฯ จำนวนมากราว ๑,๐๐๐ ผู้ใช้งาน 
ทั่วประเทศ โดย สกศ. เร่งสรุปสาระและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ใช้ปรับปรุงงานวิจัยนี้ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด