สกศ. ถกวางเกณฑ์อัปสกิลภาษาอังกฤษ สร้างจุดแข็งกำลังคนของไทยเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิทั้งอาเซียน
วันนี้ (๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.พีระศักดิ์ รัตนะ) ร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเทียบโอนผลการเรียนรู้และประสบการณ์ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๔ โดยมี ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม เป็นประธาน พร้อมด้วย ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ อนุกรรมการ ฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา (นายกวิน เสือสกุล) ผู้แทนจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กรมฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือ ณ ห้องประชุมพจน์ สะเพียรชัย ชั้น ๕ อาคาร ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษา (กกส.) เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๔ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ) เป็นประธาน ได้มีข้อกังวลถึงการจับคู่กับประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเทียบเคียงระดับคุณวุฒิที่อาจทำให้ไทยเสียเปรียบ เนื่องจากสมรรถนะภาษาอังกฤษของกำลังคนของไทยยังด้อยกว่า ๓ ประเทศที่ผ่านการรับรองก่อนหน้านี้ (มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอให้มีการออกแบบการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนตามมาตรฐานสมรรถนะ มาตรฐานอาชีพ หรือมาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งคณะอนุกรรมการ ฯ เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว และเสนอแนวทางที่ไม่ต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตร แต่ให้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานภาษาอังกฤษเป็นเงื่อนไขในการสำเร็จการศึกษาหรือการเข้าสู่เส้นทางอาชีพ อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการ ฯ เห็นว่า ควรหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันกำหนดมาตรฐานด้านภาษา เนื่องจากภาษาอังกฤษเป็นทักษะที่ต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกฝน โดยจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในแต่ละหน่วยงานเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เรียนและแรงงานไทย
จากนั้น คณะอนุกรรมการ ฯ ได้พิจารณา (ร่าง) องค์ประกอบความสำเร็จของระบบการเทียบโอนผลการเรียนรู้และประสบการณ์ตามกรอบคุณวุฒิ อาทิ หน่วยงานกลาง สมรรถนะครู รวมถึงมาตรฐานอาชีพและหลักสูตร โดยแบ่งองค์ประกอบต่าง ๆ เป็นส่วนข้อมูลนำเข้า (Input) และส่วนกระบวนการ (Process) ซึ่งยังคงเน้นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ให้มีความยืดหยุ่นเป็นระบบเปิด (Open Entry / Open Ext - OEOE) และใช้ฐานสมรรถนะเป็นเป้าหมาย
นอกจากนี้ ได้มีการปรับปรุงแผนปฏิบัติการของคณะอนุกรรมการ ฯ ซึ่งจะนำไปสู่การเตรียมความพร้อมเพื่อเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (National Quality Framework : NQF) กับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (ASEAN Qualifications Reference Framework : AQRF) ที่ช่วยส่งเสริมการเคลื่อนย้ายแรงงานและการเพิ่มค่าตอบแทนให้สูงขึ้นตามมาตรฐานสากล และหารือถึง (ร่าง) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การเทียบโอนผลการเรียนรู้ และประสบการณ์ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ซึ่งจะเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาลงนามต่อไป
***********************************
ติดตามข่าวสารได้ที่
Facebook : OEC News สภาการศึกษา
Youtube : OEC News สภาการศึกษา
LINE: @OECNews | http://line.me/ti/p/@OECNews