สภาการศึกษาสร้างเครือข่าย เพื่อนร่วมทางจัดการศึกษา ในโลกที่ไม่มีวันเหมือนเดิม

image

เมื่อวันที่ (๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔) นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา ประธานการประชุมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านวิชาการเพื่อเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานพัฒนากลไกเชิงพื้นที่ โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา และศธภ.ปทุมธานี ศธภ.นครศรีธรรมราช ศธภ.ยะลา ศธภ.ฉะเชิงเทรา ศธภ.อุบลราชธานี และศธภ.เชียงใหม่ เข้าร่วมประชุมในวันนี้ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยใช้รูปแบบการประชุมผสมผสานออฟไลน์และออนไลน์

นายอำนาจ วิชยานุวัติ กล่าวสรุปว่า สภาการศึกษาเตรียมพร้อมขับเคลื่อนระบบนิเวศการเรียนรู้ด้วยภาคีเครือข่าย โดย สกศ.ในฐานะหน่วยงานกลางจะประสานแหล่งความรู้และข้อมูลข่าวสาร การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการปฏิบัติงานอย่างสอดคล้องเชื่อมโยงกันทั้งระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบ และระหว่างหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในระดับต่าง ๆ ตลอดจนระบบการเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการ เพื่อสร้าง แลกเปลี่ยน ถ่ายทอด และกระจายความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้เรียนรู้อย่างกว้างขวางและต่อเนื่องตลอดชีวิต ตามความต้องการของบุคคลและชุมชน

จากนั้นผู้ช่วยศาสตราจารย์เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว บรรยายเรื่อง แนวโน้มความต้องการกำลังคนโดยยึดพื้นที่เป็นฐานที่เชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจของพื้นที่ สรุปว่า หลังจากเกิดสถานการณ์ Covid-19 จะเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่ฐานชีวิตใหม่ (New Normal) ให้รวดเร็วกว่าเดิม ทำให้ “วิถีชีวิต” ของเรารับข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้อำนวยความสะดวกในชีวิตมากขึ้น เคยชินกับการรับบริการแบบอัตโนมัติและช่องทางออนไลน์ ให้ความสำคัญกับสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ชุมชน และพร้อมที่จะก้าวข้ามแพล็ตฟอร์มกลางไปสู่ผู้ขายโดยตรง “การทำงาน” จะมีอาชีพเกิดขึ้นและหายไปอย่างรวดเร็ว ความชำนาญเฉพาะทางและคุณสมบัติส่วนตัวสำคัญเท่า ๆ กัน ต้องการรูปแบบและช่องทางการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเองเพื่อการ Reskill Upskill แบบมองไปข้างหน้า

 

ทั้งนี้จะเกิดความเหลื่อมล้ำ ๔ ด้าน ได้แก่ ธุรกิจ ตลาดแรงงาน รายได้ และการศึกษา ดังนั้นการเตรียมตัวเพื่อก้าวต่อไปในโลกของงานแบ่งได้เป็น ๔ กลุ่ม กลุ่มที่ ๑ เก่งนำหน้าปัญญาประดิษฐ์ (Job Innovator) กลุ่มที่ ๒ ซุปเปอร์เป็ด (Super Multitasker) กลุ่มที่ ๓ อึดถึกทน (Hardy Worker) และกลุ่มที่ ๔ หนีตลาด (Market Disengager) อาจกล่าวได้ว่า “คนไทย 4.0” ต้องรู้จักตนเอง มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นมิตรกับเทคโนโลยีและเรียนรู้ตลอดชีวิต ในสมการชีวิต = Intelligence x Attitude x Opportunity เพราะโลกหลังโควิดบนฐานวิถีวิตใหม่ จะหมุนเร็วขึ้น...คุณพร้อมแล้วหรือยัง?

นางสาวรุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ นักวิชาการศึกษา กล่าวทำความเข้าใจเรื่อง ระบบธนาคารหน่วยกิตและกลไกสู่การปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทำให้เกิดการพัฒนาตนเองจากการที่มีความเชื่อมโยงการเรียนรู้กับการทำงาน ผู้เรียนสามารถเข้ามาเรียนใหม่ได้ตลอดเวลา ซึ่งนำผลการเรียนรู้ ทักษะประสบการณ์การทำงาน การฝึกอบรม และการฝึกอาชีพมาเทียบโอนกันได้ โดยปัจจัยที่จะช่วยให้ระบบธนาคารหน่วยกิต
ประสบความสำเร็จได้ประกอบด้วย รัฐบาล หน่วยงานพื้นที่ สมาคมวิชาชีพ และสถาบันการศึกษา ทั้งนี้สถานการณ์ธนาคารหน่วยกิตในประเทศไทย ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มีการศึกษาวิจัย และนำร่อง แต่ยังไม่มีการขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ระดับอุดมศึกษา มีหลายมหาวิทยาลัยที่นำมาใช้ แต่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละมหาวิทยาลัยยังไม่ได้เชื่อมโยงกันทั้งระบบ มีการพัฒนากรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ซึ่งใช้เป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนากำลังคนสู่มาตรฐานสากล

ปัญหาและอุปสรรคของการจัดการเรียนรู้ในระบบธนาคารหน่วยกิต ได้แก่ มีนโยบายและแนวปฏิบัติแต่การนำไปสู่การปฏิบัติจริงยังมีน้อยมาก ยังไม่มีหน่วยงานหลักและหน่วยงานสนับสนุนที่รับผิดชอบดูแลอย่างเป็นระบบและชัดเจน ยังมีความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางการศึกษา กฎระเบียบ ข้อบังคับของสถาบันการศึกษาทุกระดับยังไม่เอื้อต่อการดำเนินงาน งบประมาณในการดำเนินงานและทรัพยากรที่สนับสนุนมีจำกัด การวัดและประเมินผลการเรียนยังไม่หลากหลายและเอื้อต่อระบบ และสถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนการเรียนรู้ระหว่างการทำงานยังมีค่อนข้างน้อย

---------------------------

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด