ประเดิมนัดแรก OEC Forum สะท้อนมุมคิดแม่พิมพ์ดันนโยบาย "ครูชนะ" สนองโจทย์ใหม่เด็ก New Normal

image

               วันนี้ (๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔) ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.คมกฤช จันทร์ขจร) ประธานเปิดการเสวนา OEC Forum ครั้งที่ ๑ "ฟังเสียงครู : ปัญหาหน้างาน หรือ บริบทการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล" สะท้อนมุมมองแนวคิดผ่านครูผู้สอนทั้งระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) แลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงสภาพอุปสรรคปัญหาในการจัดการเรียนการสอนปัจจุบัน ณ ห้องศึกษิตสโมสร ชั้น ๒ อาคาร ๒ สกศ.

               การเสวนา OEC Forum นัดแรกของ สกศ. ในปี ๒๕๖๔ ภายใต้วิถีใหม่การศึกษาไทยที่มีการถ่ายทอดสดทางสื่อดิจิทัล Facebook live, YouTube, Line : OEC News สภาการศึกษา ซึ่งเป็นการเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) อย่างเข้มงวด แต่ไม่อาจปิดกั้นช่องทางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคณะวิทยากรกับผู้ติดตามข่าวสารทางระบบ Online ที่ขยายวงรับรู้ออกไปอย่างกว้างขวาง

              ดร.คมกฤช จันทร์ขจร ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันมีสื่อออนไลน์มากมายที่ใช้เป็นเครื่องมือใช้ส่งเสริมการเรียนรู้ได้อย่างกว้างขวาง การจัดการศึกษาจึงต้องปรับเปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทันสมัย โดยเฉพาะในโลกยุคโควิด-๑๙ การจัดการเรียนการสอนปัจจุบันครอบคลุมความท้าทายการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล การปรับตัวของทั้งครูและผู้เรียนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัล โดย สกศ. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเสียงสะท้อนข้อเท็จจริงปัจจุบัน พร้อมจัดทำนโยบายการศึกษาขับเคลื่อนการเรียนการสอนยุคดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลตอบโจทย์การเรียนรู้อย่างตรงจุด

               ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ชนิตา รักษ์พลเมือง ประธานอนุกรรมการสภาการศึกษา (อนุ กกส.) ด้านการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา

               ปาฐกถาพิเศษ "ครูชนะในยุคดิจิทัล" ความสำคัญตอนหนึ่งว่า เหตุใดการศึกษาและนักเรียนไทยยังขาดการพัฒนาไปในทิศทางที่ควรจะเป็น ครูซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติจริงคือผู้สะท้อนสภาพปัญหาและทิศทางการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับตามบริบทความถนัดผู้เรียน คนจะงอกงามด้วยการศึกษาด้วยปัจจัยรอบตัวทั้งมนุษย์ ธรรมชาติ และสรรพสิ่ง การปรับเปลี่ยนวิถีใหม่ด้วยแนวทาง New Normal จึงเริ่มต้นที่ตัวเราเอง ข้อมูลสายตรงจากครูถือเป็นสาระสำคัญในการจัดทำนโยบายการศึกษาที่ใช้ได้จริงเกิดรูปธรรม รับฟังเสียงที่เพราะที่สุดมาจากผู้ปฏิบัติจริงวันนี้ถึงคราวที่ประเทศไทยต้องมี "ครูชนะ" เกิดขึ้นแล้ว

                 นางสาวศศิธร ศรีทองคำ ครูโรงเรียนเทศบาล ๔ (เชาวนปรีชาอุทิศ)​ จังหวัดนครปฐม กล่าวถึงมุมมองพัฒนาเด็กปฐมวัยว่า แนวทางจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กอนุบาลในยุคโควิด-๑๙ แม้ว่าจะใช้การสอนออนไลน์แต่ความร่วมมือกับพ่อแม่ผู้ปกครองมีความสำคัญกว่าในการชี้แนะการเรียนรู้ของเด็กเล็ก อุปสรรคประการหนึ่งคือเวลาที่ไม่ตรงกันเพราะผู้ปกครองไปทำงานทิ้งเด็กไว้กับตายายผู้สูงวัยกว่าจะกลับบ้านมาช่วยดูแลการเรียนออนไลน์จึงไม่ต่อเนื่องแต่ต้องให้กำลังใจทุกฝ่าย

                 อย่างไรก็ตาม ครูเองก็ต้องการเรียนรู้วิถีใหม่ตามไปด้วย เช่น การจัดสถานที่เพื่อสอนออนไลน์ การฝึกตัดต่อคลิปวิดีโอส่งเสริมการสอน แม้ว่าสภาพรอบด้านอาจยังไม่สะดวกเท่าไรแต่ผลตอบสนองจากเด็กดีมาก ยังรู้สึกใกล้ชิดครูเหมือนนั่งเรียนที่โรงเรียน

                ผู้แทนสายการศึกษาตลอดชีวิต นางสาวเยาวภา บุญญาธิการ ครูกศน. เขตห้วยขวาง ย้ำว่า ความท้าทายการจัดการเรียนการสอนที่มีความกลากหลายและเร้าความสนใจมากยิ่งขึ้น ครูเลือกใช้การจับคู่แนะนำการเรียนรู้ร่วมกันทั้งครูและผู้เรียนในการใช้สื่อดิจิทัล สามารถคิดวิเคราะห์แยกแยะข่าวสารได้ การส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมก็ทิ้งไม่ได้ต้องส่งเสริมอย่างต่อเนื่องจนเกิดจิตสำนึก รูปแบบ Onsite เป็นวิธีหนึ่งที่ครูใช้ส่งเสริมและเข้าถึงผู้เรียน รวมทั้งแชร์ข้อมูลต่าง ๆ ย้อนหลังให้ผู้เรียนกลับไปทบทวนได้ต่อเนื่อง พร้อมเสนอให้มีการถอดบทเรียนการแก้ปัญหาการเรียนรู้ต่าง ๆ ครอบคลุมการเรียนรู้ตนลอดชีวิตและสามารถใช้ต่อยอดนโยบายการศึกษาที่มีประสิทธิภาพในอนาคต          

                มิติของครูในถิ่นห่างไกลบนยอดดอย นายศุภโชค ปิยะสันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยไร่สามัคคี จังหวัดเชียงราย ชี้ว่า สถานการณ์จัดการเรียนรู้ในช่วงโควิด-๑๙ ผ่านระบบการเรียนทางไกล (DLTV) ยังไม่ราบรื่นนักเพราะปัญหาสัญญาณที่ไม่ชัดเจนนัก รวมถึงปัญหางบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณที่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งอาจแบ่งงบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวมาสนับสนุนโดยตรง การปรับเปลี่ยนรูปแบบผสมผสานเพื่อสนองการสื่อสารกับนักเรียนในหลายรูปแบบ ครูจึงต้องเข้าหาเด็กถึงบ้านแม้จะเป็นคนแปลกหน้าของบางหมู่บ้านก็ตาม มุ่งเน้นส่งเสริมผู้เรียนได้เชื่อมโยงประสบการณ์จากชีวิตจริงสู่การเรียนรู้ (Project base learning) จะทำให้เด็กมีความสนใจบทเรียนมากขึ้นบูรณาการหลายสาระวิชาร่วมกัน เรียนรู้จากชุมชนและภูมิปัญญามากขึ้น ใช้ระบบอาสาสมัครศิษย์เก่ารุ่นพี่ช่วยรุ่นน้องเข้ามาส่งเสริมกระตุ้นเด็กเพิ่มการเรียนรู้ ออกแบบการเรียนรู้ใหม่ ส่งเสริมครูเรียนรู้เทคโนโลยี กระจายวิธีคิดให้ครูปรับรูปแบบการสอนสอดรับบริบทผู้เรียน ประการสำคัญครูต้องปรับทัศนคติ Mindset เปลี่ยนเนื้อหาส่งเสริมเด็กเรียนรู้ด้วยตนเองแสวงความรู้ไปตลอดชีวิต

             ขณะที่ครูช่างสายอาชีวศึกษานายพรรษา ฉายกล้า วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุรินทร์ มองว่า ต้องปรับใหม่รูปแบบการเรียนการสอน ครูมีสื่อใหม่ที่ต้องปรับใช้กับผู้เรียนให้มีทักษะตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน วิธีปฏิบัติเปลี่ยนมาใช้การอธิบายการใช้เครื่องจักรกลต่าง ๆ รองรับการเว้นระยะห่างในช่วงโควิด-๑๙

            ปัญหาที่พบคือผู้เรียนบางคนไม่มีความพร้อม ขาดอุปกรณ์สื่อสารรองรับการเรียนออนไลน์ เช่น สมาร์ทโฟน และขาดค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ต ครูต้องแก้ปัญหาให้เป็นรายบุคคลและเพิ่มความใส่ใจยิ่งขึ้น นัดมาเรียนช่วงวันหยุด สิ่งที่อยากได้รับการสนับสนุนจากรัฐคือระบบอินเตอร์เน็ตในสถานศึกษาเพื่อสร้างความเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล

             นายอานนท์ แซ่เต็ง ครูโรงเรียนเซนต์คาเบรียล กรุงเทพ ฯ เปิดมุมมองในฐานะครูเอกชนว่า ยุคโควิด-๑๙ ครูต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตามเด็กไปด้วยไม่ว่าจะเป็นสื่อออนไลน์ Facebook live หรือ Webx ช่วงแรกยังมีปัญหาในการสอนออนไลน์เพราะไม่สามารถควบคุมผู้เรียนได้ แนวทางปรับเปลี่ยนต้องลดเนื้อหาสั้น กะทัดรัด เข้าใจง่ายกว่าเดิม เช่น การร้องแร็พเนื้อหาให้เด็กฟังซึ่งเร้าความสนใจและกระตุ้นความอยากรู้ยิ่งขึ้น แม้ว่าเด็กจะล้ำหน้าเทคโนโลยีมากกว่าครูไปมากแล้วแต่ครูยังต้องเร่งสร้างนวัตกรรมการส่งเสริมให้เด็กได้รู้อย่างถูกทิศทาง ครูจึงต้องการอบรมการผลิตสื่อการสอนออนไลน์ให้ทันสมัยสอดรับกับเด็กมากยิ่งขึ้น สื่อการ์ตูนก็เป็นรูปแบบที่เร้าความสนใจการเรียนรู้ของเด็กที่ดีมากหากสามารถผลิตสื่อดิจิทัลที่สามารถเข้าถึงเด็กได้ถึงบ้าน

          ทางด้าน นายธาดา เศวตศิลา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กกส. เห็นว่า โควิด-๑๙ คือความท้าทายการปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษายุค New Normal ซึ่งเด็กให้ความสนใจสื่อออนไลน์มาก จึงอาจต้องเลือกใช้สื่อทันสมัย เช่น Tiktok เพื่อเข้าถึงเด็กและเพิ่มความสนใจมากขึ้น อย่างไรก็ดี ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังเป็นอุปสรรคการเรียนรู้ในโลกดิจิทัลจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเข้ามาแก้ไขอย่างรอบด้าน

               ขณะที่สถานศึกษายังต้องการระบบสนับสนุนด้านเทคนิคเพื่อรองรับการเรียนรู้ผ่านสื่อออนไลน์ สิ่งที่ต้องเรียนรู้ร่วมกันคือ New pedagogy วิชา การสอนคนที่ไม่ใช่วิชาสอนหนังสือรูปแบบใหม่ ๆ เป็นวิชาครูที่ทำให้คนเกิดความรู้ความสามารถ เกิดปัญญาในการนำชีวิตของตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติไปสู้ความสุข ความเจริญ ความก้าวหน้า ด้วยการพัฒนาให้ยิ่งขึ้นไปในการสอนคนให้เกิดปัญญา ครูจะต้องเลือกวิธีการสอนที่เหมาะสม

           ดร.จรวยพร ธรณินทร์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กกส. เสนอว่า หน่วยงานกลางภาครัฐคือ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรมีนโยบายสร้างแพลตฟอร์มกลางรวบรวมหลักสูตร/เนื้อหาจากครูทั่วประเทศมารวมเป็นฐานข้อมูลในการจัดระบบการสอนที่มีประสิทธิภาพ ความร่วมมือผู้บริหารโรงเรียนกับคณะครูมีความสำคัญยิ่งในการพัฒนาสื่อออนไลน์ และได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับครูยุคดิจิทัล

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด