เสมา ๑ ถกสภาการศึกษานัดแรกปี ๖๔ ตอบโจทย์ Big Rocks ย้ำมาสเตอร์แพลนเร่งพัฒนา รร.ชุมชน-บิ๊กดาต้า-หลักสูตรใหม่

image

 


     วันนี้ (๒๙ มกราคม ๒๕๖๔) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ) ประธานการประชุมสภาการศึกษา (กกส.) ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ โดยรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ) ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (นายคมกฤช จันทร์ขจร) พร้อมผู้ทรงคุณวฒิ กกส. ร่วมประชุม ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) 

 

 


     นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า แผนขับเคลื่อนการศึกษาสำคัญกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในปี ๒๕๖๔ เพื่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีในระบอบการศึกษาไทยมุ่งเน้น ๓ เรื่องสำคัญ ดังนี้ ๑.แผนพัฒนาโรงเรียนคุณภาพประจำชุมชน แบ่งออกเป็น ๓ ส่วนคือ โรงเรียนคุณภาพประจำชุมชน ซึ่งเป็นระดับประถมศึกษา โรงเรียนที่เป็นตัวอย่างของโรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมืองในระดับมัธยมศึกษาทำให้มีความหลากหลายเพิ่มเติมจากด้านวิชาการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและของชุมชนในพื้นที่นั้น ผลักดันให้มีครูครบชั้นครบวิชา ขณะเดียวกันยังมีความหลากหลายในการที่จะปรับหลักสูตรเพิ่มเติมที่นอกเหนือจากด้านวิชาการเพิ่มเป็นหลักสูตรเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะอาชีพ Upskill-Reskill โดย ศธ. จัดสรรงบประมาณใส่ลงไปเพื่อยกระดับคุณภาพทั้งระดับประถมมัธยมศึกษาและโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นการกระจายงบประมาณเพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำอีกด้วย

 

 

      รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ๒. ศธ. วางแผนการจัดเก็บระบบข้อมูลของหน่วยงานในสังกัดอย่างเป็นระบบ (บิ๊กดาต้า) ลดความซ้ำซ้อนในขั้นตอนการเก็บข้อมูล บริหารฐานข้อมูลเป็นหนึ่งเดียว เป้าหมายเพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการบริหารงาน และการจัดสรรงบประมาณที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสุดท้าย ๓.การปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อตอบโจทย์ผู้เรียนในอนาคตต้องเชื่อมโยงกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา หลักสูตรใหม่จะต้องมีความหลากหลายเน้นสร้างสมรรถนะของผู้เรียนอย่างรอบด้าน และเหมาะสมกับผู้เรียนมากที่สุด ศธ. เร่งผลักดันหลักสูตรใหม่ให้ใช้ได้ภายในปี ๒๕๖๕

 


     การประชุม กกส. นัดแรกของปี ๒๕๖๔ ที่ประชุมได้อภิปรายอย่างกว้างขวางถึงการขับเคลื่อนดำเนินงานตามข้อเสนอการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศ ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ - ๒๕๖๕ ซึ่งพิจารณาคัดเลือกสาขาอาชีพที่เป็นความจำเป็นของประเทศ ๗ สาขาอาชีพ ประกอบด้วย ๑) สาขาอาชีพโลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน ๒) สาขาอาชีพโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ๓) สาขาอาชีพหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ๔) สาขาอาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์ ๕) สาขาอาชีพอาหารและเกษตร ๖) สาขาอาชีพปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงานและพลังงานทดแทน และ ๗) สาขาอาชีพแม่พิมพ์  ซึ่งเป็นสาขาที่ได้ดำเนินการวิเคราะห์ความต้องการและการผลิตผู้เรียน/กำลังคนที่สอดคล้องกับแนวโน้มในการพัฒนาประเทศ เป็นจุดแข็ง สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศไทยบนหลักการของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนในการดำเนินงานผลิตและพัฒนากำลังคนทั้งผู้เรียนและกำลังแรงงาน โดยเน้นวางแผนการผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ

 

 

     ในส่วน สกศ. ดำเนินการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับสถานศึกษา ตามกิจกรรมและโครงการในแผนปฏิบัติการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคน ฯ โดยศึกษา วิเคราะห์ความร่วมมือของภาคเอกชนกับสถาบันการอาชีวศึกษา และสถาบันอุดมศึกษาในแต่ละสาขาอาชีพ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับการดำเนินงานของส านักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในการพัฒนาสถานศึกษาในสังกัดให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) และศูนย์ความเป็นเลิศในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital Excellent Center: HCEC) ในอนาคต และยังขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคน ฯ สู่การปฏิบัติ โดยวิเคราะห์ ทบทวนแผนปฏิบัติการ ฯ และกำกับติดตามให้เกิดการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ ประเมินติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.) สถานศึกษาในสังกัด สอศ. และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมทั้งภาคเอกชนในการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานที่เป็นไปตามแผนปฏิบัติการฯ และทบทวนแผนปฏิบัติ ฯ ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยพิจารณาคัดเลือกอาชีพในแต่ละสาขาอาชีพที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน มีผลกระทบในวงกว้างและจำเป็นต้องเร่งดำเนินการและมีความคืบหน้าตามลำดับ

 


     ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินงานศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) ที่มีวัตถุประสงค์ผลิตและพัฒนากำลังคนระดับกลางเร่งด่วนในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศตามโมเดลประเทศไทย ๔.๐ โดยความร่วมมือกับสถานประกอบการอย่างเข้มแข็ง  เพิ่มกำลังคนกลุ่มนักเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าสู่กลุ่มอุตสาหกรรมรองรับการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นผลจาก Digital Disruption เร่งยกระดับคุณภาพกำลังในกลุ่มผู้สำเร็จการศึกษาอาชีวศึกษา ผู้อยู่ในภาคแรงงาน ให้มีสมรรถนะใหม่ ทักษะใหม่ โดยกระบวนการสร้าง New Skill, UpSkill และ ReSkill พัฒนาสถานศึกษาต้นแบบเพื่อการขยายผลการผลิตและพัฒนากำลังคนอย่างมีกรอบและทิศทางที่เหมาะสม สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ภูมิภาค และความต้องการของสถานประกอบการและความเหมาะสมกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป 

 


      ที่ประชุมรับทราบแนวทางขับเคลื่อนการขับเคลื่อน ๕ กิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rocks) ตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ประกอบด้วย ๑) การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย เพื่อตอบโจทย์ลดความเหลื่อมล้ำ
ทางการศึกษา ๒) การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ กับ ๓) การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน ที่มุ่งเน้นยกระดับคุณภาพการศึกษา ๔) การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีและระบบอื่นๆ ที่เน้นการฝึกปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบนำไปสู่การจ้างงานและสร้างงาน และ ๕) การปฏิรูปบทบาทการวิจัยและระบบธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน ซึ่งขับเคลื่อนการเพิ่มขีดความสามารถ
ในการแข่งขัน 

 

     ในมิติการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา มุ่งเน้นเด็กปฐมวัยตั้งแต่ระดับปฐมวัยส่งเสริมเด็กปฐมวัยในช่วงก่อนวัยเรียน (๓ - ๕ ปี) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส ได้รับการดูแลและส่งเสริมพัฒนาการจากสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ และได้รับโอกาสทางการศึกษาทั้งในและนอกระบบการศึกษา รวมถึงระบบการศึกษาซึ่งจัดการโดยครอบครัวหรือกลุ่มของครอบครัวจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือระดับสูงกว่าอย่างเสมอภาคตามศักยภาพและความถนัด 

 

     เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษากลับเข้าศึกษาต่ออย่างน้อยจนจบการศึกษาภาคบังคับ และได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพตามความถนัดและมีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้ ประชากรวัยแรงงานมีทักษะด้านการอ่านและคณิตศาสตร์ ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำงานและการใช้ชีวิตในโลกยุคปัจจุบัน และเกิดระบบหลักประกันโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย ด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งภาคเอกชน 

 

     ขณะที่การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะเพื่อตอบสนอง
การเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ กำหนดเป้าหมายผู้เรียนทุกระดับเป็นผู้มีความรู้ ทักษะและใฝ่เรียนรู้ มีทักษะในการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ มีความรับผิดชอบและมีจิตสาธารณะ ครู/อาจารย์มีสมรรถนะด้านการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย การออกแบบการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มีจิตวิทยาการเรียนรู้ สื่อและการใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง มีความศรัทธาในวิชาชีพและความเป็นครู ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษามีสมรรถนะในการบริหารงานวิชาการ และการนิเทศการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย ด้านหลักสูตรการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สื่อและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ การวัดและประเมินการเรียนรู้ตามสภาพจริง การนิเทศการจัดการเรียนรู้ มีภาวะผู้นำทางวิชาการ มีจิตวิทยาใน
การส่งเสริมและสร้างขวัญกำลังใจในการจัดการเรียนรู้ และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในการร่วมมือกับบุคคล หน่วยงานและชุมชนในการส่งเสริมและสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ปลอดภัยสำหรับผู้เรียน  

 

     ส่วนการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐานนั้น มุ่งสร้างกลไกและระบบการผลิต คัดกรองครูและบุคลากรทางการศึกษาและอาจารย์ให้มีคุณภาพทั้งสายสามัญศึกษาและสายอาชีวศึกษา ให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพและมีความก้าวหน้าในการประกอบอาชีพ

 

     การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีและระบบอื่น ๆ ที่เน้นการฝึกปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบนำไปสู่การจ้างงานและสร้างงาน ผลักดันผู้สำเร็จอาชีวศึกษามีทักษะที่ตรงตามความคาดหวังของสถานประกอบการและทักษะการเป็นผู้ประกอบการสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ 

 

     รวมถึงการปฏิรูปบทบาทการวิจัยและระบบธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน เร่งสนับสนุนการพัฒนากำลังคนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน สนับสนุนงานวิจัยเพื่อส่งเสริมการพัฒนาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน และการปฏิรูประบบธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการสร้างความเชื่อมั่นและการสนับสนุนสถาบันอาชีวศึกษาจากทุกภาคส่วนในประเทศไทย

   

     ขณะที่แนวทางการจัดการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ของ ศธ. ทาง สกศ. สรุปแนวทางนำเสนอที่ประชุมระบุว่า ศธ. มีคำสั่งกำชับการจัดการเรียนการสอนทุกระดับทั้งปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย ยึดหลัก ๔ ON ได้แก่ การเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต (ONLINE) การเรียนการสอนผ่านทีวี (ON-AIR) การเรียนการสอนผ่าน Application (ON-DEMAND) และการ
จัดการเรียนการสอนตามปกติ (ON-SITE) ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) หรือ ศบค. กำหนดอย่างเคร่งครัด 

 


     นอกจากนี้ ได้รับทราบความเคลื่อนไหวการดำเนินงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) โดย ครม. ให้ความเห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่มีความจำ เป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ - ๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๓ นำสู่การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ๔ คณะ ๑) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ ๒) คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเทียบโอนผลการเรียนรู้และประสบการณ์ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ๓) คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบเครือข่ายฐานข้อมูล และ ๔) คณะอนุกรรมการบริหารและกำกับติดตามการพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วน 


     ทั้งนี้ สกศ. เชื่อมโยง NQF กับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) สามารถเริ่มดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อคัดเลือกสาขาอาชีพและระดับคุณวุฒิได้ในปี ๒๕๖๔ และเตรียมเสนอของบประมาณปี ๒๕๖๕ เพื่อดำเนินการวิจัยทดลองเชื่อมโยงคุณวุฒิของประเทศไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียนบนหลักการ AQRF ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นกิจกรรมในส่วนของประเทศ

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด