จับตา! OEC Forum ๔ ก.พ. ๖๔ สกศ. เปิดใจฟังเสียงสะท้อนครูแปลงสู่นโยบาย "ครูชนะ" ต่อยอดเรียนรู้ยุคดิจิทัล
วันนี้ (๒๖ มกราคม ๒๕๖๔) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) ร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา (อนุ กกส.) ด้านการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ ที่มี ศาสตราจารย์กิตติคุณชนิตา รักษ์พลเมือง เป็นประธานการประชุม โดยผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะทำงานร่วมหารือ ณ ห้องสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น ๒ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
ความก้าวหน้าการดำเนินงานคณะอนุ กกส. คณะที่ ๓ ด้านการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา ได้สรุปข้อเสนอรายงานต่อที่ประชุมสภาการศึกษา (กกส.) แล้วในการประชุม กกส. ครั้งที่ ๕/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ มีจุดเน้นคือภาพรวมการผลิตและพัฒนาครูทั้งระบบ และทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง โดยประเด็นข้อเสนอเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ คือ ๑) ระบบฐานข้อมูลครู และ ๒) กรรมการนโยบายการผลิตและพัฒนาครู และแนวทางการจัด Forum สำหรับเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและใช้ข้อมูลที่ได้มาจาก สกศ. เป็นส่วนใหญ่
วาระสำคัญเพื่อพิจารณาแนวทางการจัดประชุมวิชาการ สกศ. หรือ OEC Forum ในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ณ ห้องศึกษิตสโมสร อาคาร ๒ สกศ. วัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนมุมมองแนวคิดอย่างหลากหลายจากครูผู้สอนระดับต่าง ๆ และทุกสังกัดทั้งปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
ถึงสภาพอุปสรรคปัญหาในการจัดการเรียนการสอนปัจจุบัน ครอบคลุมความท้าทายการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล การปรับตัวของทั้งครูและผู้เรียนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัลภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ซึ่งอาจยกขึ้นเป็นโมเดล "ครูชนะ" นำสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาและข้อเสนอในการส่งเสริมการเรียนรู้ยุคดิจิทัล โดย ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อเสียงสะท้อนข้อเท็จจริงปัจจุบัน พร้อมจัดทำนโยบายการศึกษาเร่งด่วนเพื่อขับเคลื่อนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลตอบโจทย์การเรียนรู้ยุคดิจิทัลอย่างตรงจุด
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารืออย่างกว้างขวางถึงแนวทางการจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูอย่างครอบคลุมรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นนการผลิตครูระบบปิด การผลิตครูอาชีวศึกษา รวมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลครู โดย สกศ.ให้ความสำคัญต่อการปรับแนวทางการเรียนการสอนในช่วงการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล (Digital Transformation) ครอบคลุม ๓ ประเด็น ๑) Big Data ด้านการศึกษา ๒) Digital Literacy และ ๓) Platform การเรียนรู้และการบริหารจัดการศึกษา และจุดเน้นรองในการดำเนินงาน เช่น การเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นต้น
ทั้งนี้ สกศ. ขับเคลื่อนงานอย่างสอดคล้องและเชื่อมโยงกับนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๕ ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เร่งตอบโจทย์การสร้างระบบการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพ ถือเป็น ๑ ใน ๕ กิจกรรมปฏิรูปประเทศที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big rocks) ซึ่งต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน