อนุ ฯ กกส. พลิกโฉมการศึกษาด้วยระบบดิจิทัล ประชุมติดตามผล-พิจารณาตัวชี้วัด จัดอันดับคุณภาพการศึกษาเชิงพื้นที่
วันนี้ (๑๘ มกราคม ๒๕๖๔) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ) ร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา (อนุ ฯ กกส.) ด้านปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ โดยมี นายอรรถการ ตฤษณารังสี เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงาน เช่น กระทรวงการคลัง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท ทรู คอร์เปเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมหารือ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
สกศ. รายงานข้อมูลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา โดยที่ประชุมพิจารณาต่อยอดประเด็นการขับเคลื่อน Big Data ด้านการศึกษาของประเทศไทย ๔ ประเด็นหลัก ดังนี้
ประเด็นที่ ๑ การจัดหาระบบการบริหารจัดการศึกษากลางรายบุคคลที่สามารถอ้างอิงเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อดีข้อเสียของระบบเดิม จากหน่วยงานต้นแบบในกระทรวงศึกษาธิการที่มีอยู่ เช่น ระบบ Data Management Center (DMC) ระบบ ศธ.๐๒ และระบบ TEZ หรือการใช้งบประมาณในการจัดทำโปรแกรมสำเร็จรูป (Software) สำหรับการบริหารและจัดการข้อมูลด้านการศึกษาที่เป็นระบบเดียวกันทั่วประเทศ ตรวจสอบความถูกต้องและแก้ไขได้ทันที (Real Time)
ประเด็นที่ ๒ การผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา พ.ศ. .… เพื่อสนับสนุนระบบการบริหารจัดการศึกษากลางรายบุคคลตามประเด็นที่ ๑ เพื่อบังคับใช้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ประเด็นที่ ๓ การประชาสัมพันธ์ระบบฐานข้อมูลกลาง ศูนย์กลางข้อมูลทางการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ (Edocation Data Center : EDC) โดยจัดเวทีประชาสัมพันธ์ในส่วนภูมิภาค (Road Show) เพื่อให้สถานศึกษาเห็นถึงประโยชน์และเข้าใจระบบดังกล่าว
ประเด็นที่ ๔ การผลักดันการจัดเก็บข้อมูลที่มีคุณภาพตั้งแต่ต้นทาง โดยพัฒนาระบบประเมินคุณภาพข้อมูลให้เทียบเคียงมาตรฐานนานาชาติ และมีระบบรายงานสภาวะการศึกษาไทยที่เป็นปัจจุบัน นอกจากนี้มีรายงานความก้าวหน้าของแคมเปญ ED’s Possible แมวมีแมวมอง โดยจะดำเนินการคัดเลือกครูต้นแบบที่มีไอเดียการสอนสุดสร้างสรรค์ จำนวน ๕๐ คน พร้อมผลิตหนังสือการ์ตูนแนวคิดการสอนในเดือนเมษายน ๒๕๖๔
จากนั้นร่วมกันพิจารณากรอบตัวชี้วัดเพื่อจัดอันดับคุณภาพการศึกษารายจังหวัด โดยวางกรอบตัวชี้วัดเบื้องต้นครอบคลุมระดับชั้นประถมศึกษา-มัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน ๘ ตัวชี้วัด ดังนี้
๑) อัตราการเข้าเรียนสุทธิแบบปรับ (Adjusted Net Enrollment Ratio : ANER) เพื่อหาสัดส่วนการได้รับการศึกษาของผู้เรียน ซึ่งสะท้อนถึงจำนวนผู้ที่ได้เข้ารับการศึกษาตามเกณฑ์อายุ ๖-๑๑ ปี และจำนวนผู้ที่ไม่ได้เข้ารับการศึกษา
๒) อัตราการเข้าใหม่สุทธิแบบปรับ (Adjusted Net Intake Ratio : ANIR) เพื่อพิจารณาความสามารถของสถานศึกษาในการติดตามผู้เรียนที่อายุถึงเกณฑ์ เข้าเรียนในระดับประถมศึกษา
๓) อัตราการเรียนต่อ (Transtition Ratio : TR) โดยศึกษาจากผู้เรียนในช่วงอายุ ๑๗-๑๙ ปี ตามหลักคิดตัวชี้วัดขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เพื่อหาสัดส่วนผู้เรียนที่ศึกษาอยู่ หรือเคยศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
๔) อัตราการซ้ำชั้น (Repetition Rates : PR) เพื่อหาสัดส่วนผู้เรียนที่ซ้ำชั้น โดยเทียบกับจำนวนผู้เรียนทั้งหมดของผู้เรียนในปีการศึกษานั้น ๆ
๕) อัตราการเลื่อนชั้น (Promotion Rates : PR) เพื่อหาสัดส่วนของผู้เรียนที่ได้เลื่อนชั้น โดยมีเป้าหมายควรได้เลื่อนชั้นครบ ร้อยละ ๑๐๐
๖) อัตราการออกกลางคัน (Dropout Rates : DR) เพื่อหาสัดส่วนผู้เรียนที่หลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการศึกษาปัญหาและวิธีแก้ไขการออกกลางคันของผู้เรียน
๗) จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรวัยแรงงาน (Mean Years of Schooling) เพื่อหาระดับการศึกษาของแรงงาน ซึ่งปัจจุบันเฉลี่ยร้อยละ ๙.๖ ปี อยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
๘) ร้อยละของประชากรอายุ ๖-๑๔ ปี สามารถในการอ่าน เขียน คำนวณได้ ซึ่งปัจจุบันร้อยละ ๙๐ โดยมีเป้าหมายควรได้ร้อยละ ๑๐๐
อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดอันดับคุณภาพการศึกษารายจังหวัด ที่ประชุมตั้งข้อสังเกตถึงเกณฑ์การคำนวณอายุการเข้าเรียนของผู้เรียนระดับชั้นประถมศึกษาทั่วประเทศ เนื่องจากมีกรณีผู้เข้าเรียนก่อนเกณฑ์ ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนของการคำนวณตัวเลขทางสถิติ ดังนั้น สกศ. จะศึกษาประเด็นดังกล่าวให้ครบถ้วนอย่างละเอียด ก่อนเสนอต่อที่ประชุมครั้งถัดไป