สกศ. ลุยขยายฐานสภาการศึกษานำร่อง ๔ ภูมิภาค ประเดิมพังงา-ลำปาง-กาญจนบุรี-ชัยภูมิ
ระหว่างวันที่ ๒๔ - ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๓ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) พร้อมคณะนักวิชาการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ (สมร.) ลงพื้นที่จังหวัดพังงา หารือแนวทางพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วน และเก็บข้อมูลโรงเรียนวัดโคกสวย ตำบลโคกเจริญ โรงเรียนบ้านบ่อแสน ตตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุด สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดพังงา (ศธจ.พังงา) และโรงเรียนบ้านตากแดด อำเภอเมืองพังงา โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) พร้อมเป็นองค์กรกลางเชื่อมโยงและประสานกับจังหวัดพังงา ทำความเข้าใจและประสานความร่วมมือกับเครือข่ายโรงเรียนและผู้นำท้องถิ่นในการประสานและส่งเสริมความร่วมมือการจัดการเรียนรู้เชิงพื้นที่และเหมาะสมกับความต้องการพัฒนาการศึกษาที่ตอบสนองการใช้ชีวิตประจำวันของชุมชนท้องถิ่น
ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ได้หารือกับ นายบุญเติม เรณุมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา และ นายจุมพล ทองตัน หรือ โกไข่ ประธานอนุกรรมการพัฒนาการศึกษา คณะกรรมการการศึกษาธิการ จ.พังงา (อนุ ฯ กศจ.พังงา) ศิลปิน/นักร้องชื่อดังภาคใต้ ผู้อุทิศตนส่งเสริมการศึกษา มีความยินดีในการส่งเสริมความร่วมมือกับ สกศ. และพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาที่มีความเหมาะสมกับท้องถิ่น ขยายโอกาสเข้าถึงการศึกษาในทุกระดับเป็นการส่งเสริมการกระจายอำนาจจัดการศึกษาสู่ท้องถิ่นสะท้อนอัตตลักษณ์ของชุมชนที่สอดรับกับวิถีชีวิตคนในท้องถิ่น ส่งเสริมการพัฒนาระบบการศึกษาครอบคลุมทุกระบบทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ถือเป็นแนวคิดโครงการที่ดีพร้อมส่งเสริมสนับสนุน ชาวพังงาพร้อมร่วมเรียนรู้ไปกับการจัดตั้งสมัชชา/สภาการศึกษาจังหวัดพังงา
โครงการนำร่องขณะนี้ สกศ. กำหนดพื้นที่พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ๔ พื้นที่ศึกษา ประกอบด้วย ภาคใต้เริ่มต้นที่จังหวัดพังงา ภาคกลาง จังหวัดกาญจบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดชัยภูมิ และภาคเหนือ จังหวัดลำปาง โดยเตรียมศึกษารูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสมตามบริบทแต่ละพื้นที่ มีความแตกต่างกันทั้งแนวความคิดและความต้องการของชุมชนและระบบการศึกษาขององท้องถิ่น พร้อมถอดบทเรียนการมีส่วนร่วมพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ของแต่ละพื้นที่นำร่องนำไปสู่การผลักดันลงมติสมัชชา/สภาการศึกษาจังหวัดตั้งแต่ระดับจังหวัด ภูมิภาค และระดับชาติ ขับเคลื่อนข้อมูลการศึกษาที่แท้จริงสะท้อนการจัดทำนโยบายการศึกษาที่สามารถปฏิบัติได้เกิดรูปธรรมชัดเจน
สกศ. เร่งสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาอีกรูปแบบสามารถร่วมมือกันทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน และภาคประชาสังคม ช่วยกันออกแบบนโยบายการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล และรองรับการจัดการศึกษาที่มีความหลากหลายตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... และแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ตลอดจนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มุ่งเน้นสร้างการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ ๑ ใน ๕ Big rock ด้านการศึกษา หรือกิจกรรมปฏิรูปที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ ๒๐ ปี