สกศ. จัดอบรมการพัฒนาระบบบัญชีข้อมูล (Data Catalog) แก่ผู้แทนในสังกัดศธ.
วันนี้ (๙ ธันวาคม ๒๕๖๓) ดร.อำนาจวิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา ประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ประเด็น การพัฒนาระบบบัญชีข้อมูล (Data Catalog) เพื่อนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Data)” โดยมีวิทยากรจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ นายทรงพล ใหม่สาลี ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศยุทธศาสตร์ภาครัฐ นายบรรพต ตีเมืองสอง นักวิชาการสถิติชำนาญการพิเศษ นายอรรถเศรษฐ์ จริยธรรมานุกูล ที่ปรึกษาโครงการ GD Catalog นางสาวจารุณี จารุรัตนวารี ที่ปรึกษาโครงการ GD Catalog สำนักงาน ก.พ.ร. นายสุเพียร เจียรวาปี สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล นางสาวนพจิตร เหลืองช่อสิริ ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายพัฒนามาตรฐานดิจิทัล สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ ดร.ปริสุทธิ์ จิตต์ภักดี และภาคเอกชน นายพสิษฐ์ บุญกว้างโพธิวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลและโปรแกรมประยุกต์ด้านการศึกษา โดยมีผู้บริหาร สกศ. ข้าราชการ และบุคลากรจากหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการและผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมอบรมครั้งนี้กว่า ๘๐ คน ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า นโยบายการลงสู่ปฏิบัติที่ส่วนราชการได้ดำเนินการ Data Catalog เพื่อเปิดเผยข้อมูล จะทำให้เกิดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเกิดขึ้นได้นั้น จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจร่วมกันทั้งในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติ ดำเนินการนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐตามมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐจะเป็นภาพรวมของรัฐบาล วันนี้ สกศ. ได้จัดประชุมเพื่อให้ความรู้กับบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เข้าใจและเรียนรู้ถึงวิธีการปฏิบัติร่วมกันในการจัดทำบัญชีข้อมูลกลางของศธ. ที่เชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันระหว่างผู้กำหนดแนวทาง ผู้กำหนดตัวชี้วัดในรอบปี พ.ศ. ๒๕๖๔ และที่สำคัญขอให้ระวังข้อมูลบางเรื่องที่ต้องเก็บรักษาไว้อาจจะเป็นผลกระทบ เช่น ข้อมูลเด็กพิการเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องพึงระวัง ข้อมูลที่ทดลองนำมาใช้เพื่อให้ข้อมูลภาครัฐจัดระบบให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น
นางพิจารณา ศิริชานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร กล่าวว่า มาตรา ๘ (๕) พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๒ รายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างของข้อมูล เนื้อหาสาระ รูปแบบการจัดเก็บแหล่งข้อมูล และสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล คณะรัฐมนตรีมีมติ เรื่อง แนวทางการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ให้หน่วยงานภาครัฐ ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลฯ กำหนดให้ส่วนราชการจัดส่งข้อมูลการใช้มาตรฐานสถิติที่สำนักงานสถิติแห่งชาติกำหนด รวบรวมเป็นข้อมูลในการจัดทำศูนย์กลางรายการข้อมูลภาครัฐ (National Data Catalogue and Directory services) ให้ส่วนราชการพัฒนาระบบบัญชีข้อมูล (Data Catalog) นำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Data) และสำนักงาน ก.พ.ร. กำหนดเป็นตัวชี้วัดกรอบการประเมินส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ มีสัดส่วนคะแนนร้อยละ ๑๕
นายทรงพล ใหม่สาลี ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศยุทธศาสตร์ภาครัฐ สำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า การใช้ประโยชน์ของข้อมูลของประเทศมีอยู่อย่างจำกัด รัฐมนตรีมอบหมายให้สำนักงานสถิติแห่งชาติดำเนินการจัดทำระบบบัญชีข้อมูลกลาง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะต้องมีบัญชีข้อมูลของหน่วยงาน สกศ. จะต้องมีบัญชีข้อมูลที่แท้จริง ทำให้สกศ.เป็นแหล่งข้อมูลที่แท้จริงและเป็นเจ้าของข้อมูลชุดนี้ ทำให้หน่วยงานอื่นดำเนินการทำซ้ำซ้อนจะไม่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง รวมถึงนิยามคำอธิบายของชุดข้อมูลนั้น ระยะแรกจะได้ข้อมูลเปิดโดยทดลองเลือก ๑ กระบวนการที่เป็นกระบวนการภารกิจหลักและพิจารณาชุดข้อมูลที่อยู่ในกระบวนการนั้นที่อยู่ในวงจรการพัฒนา และเมื่อข้อมูลขึ้นในระบบบัญชีแล้วจะทำให้ข้อมูลได้แลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงกันจะเปรียบเสมือนสมุดหน้าเหลืองดิจิทัล สำหรับวัฒนธรรมการบูรณาการใช้ข้อมูลระหว่างหน่วยงานกัน สิ่งสำคัญคือการได้สนทนาเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนไปด้วยกัน
นายบรรพต ตีเมืองสอง นักวิชาการสถิติชำนาญการพิเศษ สำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า บริหารจัดการข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ทุกหน่วยงานต้องทำ Data Catalog ของตนเองประกอบด้วยชุดข้อมูลพร้อม Metadata และระบบกลาง Government Data Catalog เป็นตัวบูรณาการของหน่วยงานมาไว้ตรงกลางเพื่อได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ชุดข้อมูลทุกชุดที่ใช้ในการบริหารราชการ เช่น ข้อมูลทะเบียนข้าราชการ งบประมาณ พัสดุ ซึ่งระบบกลางที่เป็นผู้จัดการกำกับและติดตามให้ข้อมูลมีคุณภาพ สำหรับสกศ. ต้องทำ Agency Catalog ได้แก่ ข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลสาธารณะ ทั้งนี้ต้องกำหนดสิทธิ์และอยู่ภายใต้เงื่อนไขกฎระเบียบของหน่วยงานที่จะให้เข้าถึงข้อมูลนั้น และข้อมูลหน่วยงานที่จะขึ้นในส่วนกลางต้องเป็นข้อมูลของตนเอง เช่น สกศ.เก็บข้อมูลและนำขึ้นเป็นของตนเองนั้นจะใช้ไม่ได้ เพราะสกศ.ไม่ใช่ OWNER ส่งผลเรื่องการอับเดตข้อมูลที่ไม่ทันสมัย แต่ถ้าสกศ. นำข้อมูลมาประมวลผลชุดข้อมูลใหม่ Indicator จะเป็นข้อมูลของ สกศ. ยกตัวอย่าง ระเบียบ ประกาศ นำสแกนเป็น Data ขึ้น PDF File รูปภาพ ข้อความ วิดิโอ จะเรียกว่าชุดข้อมูล ต้องนำมาจัดทำบัญชีข้อมูลสำคัญที่สามารถนำไปใช้ต่อได้ ข้อมูลสำคัญต้องตอบยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายต่าง ๆ เป็นข้อมูลบริการประชาชน ข้อมูลเปิดภาครัฐ สถิติทางการศึกษา ข้อมูลที่ตอบ KPI หน่วยงาน ข้อมูลที่รายงานผลการดำเนินงานประจำเดือน รายงานการประชุมที่ต้องใช้ในการอ้างอิง ทั้งหมดเป็นข้อมูลที่อยู่ภายใต้กรอบธรรมาภิบาลที่กำกับ มีคุณภาพ ความทันสมัย ครบถ้วน ถูกต้อง และสามารถระบุที่มาของข้อมูลได้
นายสุเพียร เจียรวาปี สำนักงาน ก.พ.ร. กล่าวว่า การประเมินพัฒนาองค์การสู่ดิจิทัล สำนักงาน ก.พ.ร. จะมีคลินิกให้คำชี้แจงร่วมกับสำนักงานสถิติ กำหนดจัดในช่วงต้นปีหน้าจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง สำหรับการดำเนินการพัฒนาระบบบัญชีข้อมูลเพื่อนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ เริ่มต้น สกศ. พิจารณาจากภารกิจหลัก และเลือกภารกิจเดียว จากนั้นแตกกระบวนการย่อย กำหนดชื่อชุดข้อมูล และ Metadata ตาม Template ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ประชาชนหรือผู้รับบริการต้องการและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้
นายอรรถเศรษฐ์ จริยธรรมานุกูล ที่ปรึกษาโครงการ GD Catalog กล่าวว่า การได้มาซึ่งข้อมูลจะช่วยคัดเลือกข้อมูลในการบันทึกข้อมูล การนำเข้าใน Metadata ขอให้เน้นยำเรื่องแท็คข้อมูลในการสืบค้นข้อมูลจะมีประโยชน์มากในการเข้าถึงข้อมูล เป็นการช่วยในการสืบค้นข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้สะดวกและรวดเร็ว
นางสาวนพจิตร เหลืองช่อสิริ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า พ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. ๒๕๖๒ ในมาตรา ๔ และ มาตรา ๘ ที่กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐทั้งหมดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ เพื่อส่งเสริมให้ข้อมูลที่ได้มีคุณภาพ สามารถบูรณาการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงกันได้ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเพื่อนำไปใช้ประโยชน์มากขึ้น ในส่วน สพร. พยายามให้เป็นรัฐบาลดิจิทัลที่เปิดเผยได้และเชื่อมโยงข้อมูลและมีส่วนร่วมในการที่จะพัฒนาระบบงานให้กับประชาชน จะทอนออกมาเป็นยุทธศาสตร์ขององค์กรที่ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐทั้งหมดไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล