สกศ. เดินเครื่องพิจารณาทบทวนกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อน NQF และผลักดันสู่การเคลื่อนย้ายกำลังคนภายใต้กรอบ AQRF
วันนี้ (๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๓) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจัดประชุมคณะทำงานพิจารณาทบทวน แก้ไข ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ โดยมี ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เป็นประธานคณะทำงาน พร้อมด้วยรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ) ที่ปรึกษาคณะทำงาน และคณะทำงานเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมพจน์ สะเพียรชัย สกศ.
ภายใต้การขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และการเทียบเคียงกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) สกศ. ได้ร่วมกับ สคช. หน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการงานภายใต้คณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติที่มี ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ทั้ง ๔ คณะ โดยคณะทำงานพิจารณาทบทวน แก้ไข ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบนี้ เป็นคณะทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ ที่มีนายอรรถการ ตฤษณารังสี เป็นประธาน
การประชุมนัดแรกในวันนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ในส่วนของปัจจัยที่เอื้อให้การขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติประสบความสำเร็จ โดยได้ดำเนินการรวบรวมสภาพการดำเนินงานในปัจจุบัน และข้อจำกัด รวมถึงกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาสู่การพิจารณาทบทวน/ปรับแก้กฎหมาย กฎระเบียบ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง อาทิ
(๑) การจัดตั้งองค์กรกลาง เพื่อขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ โดยจัดทำข้อเสนอต่อคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม
(๒) การพัฒนาระบบค่าตอบแทนที่สอดคล้องกับสมรรถนะในแต่ละระดับคุณวุฒิ ทั้งในส่วนของการพิจารณา พรบ. ค่าจ้างของกระทรวงแรงงานและภาคประกอบการ รวมถึงการพัฒนาเกณฑ์การคัดเลือกข้าราชการของสำนักงาน ก.พ. ในอนาคต
(๓) การปลดล็อคเกณฑ์/ระบบการเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ ที่ยังขาดความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับรูปแบบการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน ทั้งในส่วนของผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome: LO) จากระบบการศึกษา และความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์การทำงาน ด้วยการรับรองประสบการณ์การเรียนรู้เดิม (Recognition of Prior Learning: RPL) หรือสมรรถนะปัจจุบัน (Recognition of Current Competency: RCC) ในกลุ่มกำลังคนที่สำเร็จการศึกษานานแล้ว แต่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานสูง รวมถึงกลุ่มกำลังคนที่จำเป็นต้องออกจากระบบการศึกษาเพื่อทำงาน เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม
(๔) การพัฒนากฎเกณฑ์/ระเบียบ ที่รองรับการเคลื่อนย้ายกำลังคนในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งปัจจุบันมีการเคลื่อนย้ายผู้เรียน และกำลังคนภายใต้ข้อตกลงอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือหลักการและข้อตกลงของกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) ซึ่งเป็นหลักการที่ประเทศสมาชิกร่วมกันกำหนดขึ้นเพื่อยกระดับ และรับรองสมรรถนะของกำลังคนในภูมิภาค ไทยจึงควรปรับหลักสูตรและคุณวุฒิของหน่วยงานในประเทศให้สอดคล้องกับ AQRF เพื่อให้เกิดการยอมรับและรับรองคุณวุฒิของผู้สำเร็จการศึกษาและกำลังคนในแต่ละสาขาอาชีพ/ระดับการศึกษา (sector) ซึ่งแนวโน้มในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงกับกรอบคุณวุฒิในระดับภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ยุโรป (EQF) และกลุ่มประเทศ ASEAN+๓