อำนาจชง ๑๐ คณะทำงานพัฒนากฎหมายทำงานคู่ขนานรองรับ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ....
วันนี้ (๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๓) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อำนาจ วิชยานุวัต) เป็นประธานการประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับการเสนอแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนากฎหมายเพื่อรองรับการดำเนินงานตามร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... โดยมีรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ) ผู้แทนองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรในกำกับ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร ๕๖ ปี ชั้น ๓ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ เป็น “ธรรมนูญการศึกษา” ที่มุ่งเน้นปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย ตอบสนองความยืดหยุ่น หลากหลายของคนทุกช่วงวัย เสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ เสริมความเอกภาพเชิงนโยบายแบบมีส่วนร่วม โดยมีสาระสำคัญประกอบด้วย ๗ หมวด ๑๐๓ มาตรา จุดเน้นมุ่งปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง ดังนี้ หมวด ๑) วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการจัดการศึกษา เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต หมวด ๒) สถานศึกษา เชื่อมโยง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สถานศึกษาของรัฐที่มุ่งเน้นความเป็นอิสระและคล่องตัว หมวด ๓) ครูและบุคลากรทางการศึกษา ปรับเปลี่ยนบทบาทครูให้เป็นผู้เอื้ออำนวยการให้เกิดการเรียนรู้ และผลิตครูพร้อมทำต้นแบบที่สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ตามช่วงวัยของผู้เรียน หมวด ๔) การจัดการศึกษา โดยการเรียนรู้เชิงรุก แผนการเรียนที่ยืดหยุ่น เน้นผลสัมฤทธิ์ต่อเป้าหมายผู้เรียนตามช่วงวัย หมวด ๕) หน้าที่ของหน่วยงานรัฐ มีความเป็นเอกภาพ อิสระคล่องตัว สามารถบูรณาการงานร่วมกัน มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละสถานศึกษา และบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศทางการศึกษา หมวด ๖) แผนการศึกษาแห่งชาติและทรัพยากรเพื่อการศึกษา มีส่วนร่วมทุกระดับ ยืดหยุ่นปรับปรุงได้ตลอดเวลา และมีกลไกติดตาม ตรวจสอบด้วย และ หมวด ๗) คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ หรือ Super board ทางการศึกษา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีหน้าที่ชี้นำด้านการศึกษา
นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวมีประสิทธิภาพ จึงได้มีการแต่งตั้ง ๑๐ คณะทำงานประกอบด้วย
คณะที่ ๑) คณะทำงานพิจารณาจัดทำ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๔๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) เป็นเจ้าภาพหลัก
คณะที่ ๒) คณะทำงานพิจารณาจัดทำ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เป็นเจ้าภาพ
คณะที่ ๓) คณะทำงานพิจารณาจัดทำ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๖ ให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาเป็นเจ้าภาพ
คณะที่ ๔) คณะทำงานพิจารณาจัดทำ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ.๒๕๕๑ ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นเจ้าภาพ
คณะที่ ๕) คณะทำงานพิจารณาจัดทำ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.๒๕๕๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) เป็นเจ้าภาพ
คณะที่ ๖) คณะทำงานพิจารณาจัดทำ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) พ.ศ.๒๕๔๓ ให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) เป็นเจ้าภาพ
คณะที่ ๗) คณะทำงานพิจารณาจัดทำ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.๒๕๔๕ ให้ สป.ศธ. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นเจ้าภาพร่วม
คณะที่ ๘) คณะทำงานพิจารณาจัดทำร่าง พ.ร.บ.การบริหารข้อมูลสารสนเทศเพื่อการศึกษา พ.ศ. …. ให้ สกศ. เป็นเจ้าภาพ
คณะที่ ๙) คณะทำงานพิจารณาจัดทำร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษา พ.ศ. …. ให้ สกศ. เป็นเจ้าภาพ
และคณะที่ ๑๐) คณะทำงานพิจารณาจัดทำ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติม ร่าง พ.ร.บ.สถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ พ.ศ. …. ให้สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าภาพ
ทั้งนี้ สกศ. จะร่วมเป็นคณะทำงานทุกคณะเพื่อช่วยให้การทำงานบรรลุภารกิจหน้าที่เพื่อให้เกิดประโยชน์ส่งผลต่อคุณภาพและประสิทธิภาพการศึกษามากที่สุด