สกศ.อบรมให้ความรู้การควบคุมภายในและการบริหารจัดการความเสี่ยง
วันนี้ (๗ ธันวาคม ๒๕๖๓) ดร.อุษณีย์ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ ประเด็น"การยกระดับมาตรฐานการควบคุมภายในและการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อพัฒนาระบบราชการตามหลักธรรมาภิบาล ร่วมขับเคลื่อนนโยบายกำกับองค์กรที่ดี " ระหว่างวันที่ ๗ – ๘ ธันวาคม ๒๕๖๓ ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร โดยมีวิทยากร นางสาวฐิติมา พราวศรี นางสาวนุจรี อ่อนดี จากกรมบัญชีกลาง และนางจันทวรรจน์หรรษาภิรมย์โชค ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรภาครัฐ (หมอองค์กร) และมีข้าราชการทุกสำนักเข้าอบรมอย่างพร้อมเพรียง
ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ปีนี้สกศ. ได้ประกาศแนวทางการดำเนินงานขององค์กรว่าจะมุ่งเน้นทำงานในงานปฏิรูปด้านการศึกษา พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่อยู่ระหว่างเสนอเข้าครม. งานตามภารกิจหลักเรื่องการศึกษาค้นคว้าวิเคราะห์วิจัยเพื่อให้หน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ ได้นำไปใช้ประโยชน์ กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ การพัฒนาเด็กปฐมวัย เครดิตแบงค์ การจัดตั้งเขตมัธยมศึกษา และการจัดงานซิมโพเซียมเพื่อนำเสนอผลงานสกศ.ตลอดปีที่ผ่านมา สำหรับการอบรมวันนี้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยให้ดำเนินการตามนโยบายได้บรรลุตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลและมีคุณภาพอย่างคุ้มค่า เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือการรายงานทางการเงิน การนำข้อมูลการรายงานมาใช้ในการตัดสินใจด้านต่าง ๆ ของหน่วยงานที่เป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการบริหารราชการการควบคุมภายใน และการบริหารจัดการความเสี่ยง มีการกำกับติดตามตรวจสอบให้เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นางพิจารณา ศิริชานนท์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร กล่าวว่า พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๑ กำหนดหน่วยงานของรัฐจัดให้มีการตรวจสอบภายใน การควบคุมภายใน และการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยปรับให้เหมาะสมกับบริบทของระบบการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการกำหนด การประเมินและปรับปรุงระบบการควบคุมภายในของหน่วยงานของรัฐ ทำให้การดำเนินงานและการบริหารงานของหน่วยงานของรัฐบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์เป้าหมายและมีการกำกับดูแลที่ดี เพื่อเพิ่มโอกาสและสร้างความเชื่อมั่นในการดําเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์เป้าหมายขององค์กร ด้วยการวางแผนจัดการประเด็นความเสี่ยง ปรับปรุงการควบคุมภายในที่เพียงพอเหมาะสม
นางสาวฐิติมา พราวศรี วิทยากรจากกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า หลักเกณฑ์ปฏิบัติการควบคุมภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ วัตถุประสงค์ด้านการดำเนินงานเพื่อความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงาน รวมถึงการบรรลุเป้าหมายด้านการดำเนินงาน การเงิน การใช้ทรัพยากร การดูแลทรัพย์สิน การป้องกัน ลดความผิดพลาดของหน่วยงาน การรั่วไหล การสิ้นเปลือง การทุจริตในหน่วยงาน ส่วนด้านการรายงานเป็นการรายงานทางการเงินที่เชื่อถือได้ ทันเวลา โปร่งใส ต้องทำอย่างเป็นขั้นตอนต่อเนื่อง โดยรัฐต้องชี้แจงให้ข้อมูลการควบคุมภายในต่อกระทรวงการคลัง ดังนั้นระบบการควบคุมภายในที่ดีต้องมีความเหมาะสม เพียงพอ และรัดกุม มีความคุ้มค่า สามารถป้องกันความเสียหายหรือความสูญเสีย ปฏิบัติงานได้สะดวก และปลอดภัย
นางสาวนุจรี อ่อนดี วิทยากรจากกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า การบริหารจัดการความเสี่ยงต้องดำเนินการในทุกระดับของหน่วยงานของรัฐ กระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยงประกอบด้วย การกำหนดวัตถุประสงค์ การระบุความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยง และการตอบสนองความเสี่ยง ทั้งนี้การระบุความเสี่ยง ควรพิจารณาความเสี่ยงให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์หรือแผนปฏิบัติการประจำปีของหน่วยงานของรัฐ ต้องครอบคลุมวัตถุประสงค์ในทุกด้าน ให้สอดคล้องกับลักษณะขององค์กร เช่น ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ ด้านการเงิน ด้านตลาด ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการปฏิบัติ ฯ ซึ่งขั้นตอนสำคัญของการประเมินความเสี่ยง ได้แก่ การกำหนดเกณฑ์การประเมิน การวิเคราะห์ความเสี่ยง และการจัดลำดับความเสี่ยง
นางจันทวรรจน์ หรรษาภิรมย์โชค ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรภาครัฐ (หมอองค์กร) กล่าวว่า การรายงานการประเมินผลการควบคุมภายใน ตามแบบ ปค.๕ นั้น การรายงานที่มีความน่าเชื่อถือ ตามเวลาที่กำหนด และเกิดความคุ้มค่าในงานภารกิจของรัฐ ผู้รายงานจะต้องคำนึงถึงภารกิจตามกฎหมายที่จัดตั้งหน่วยงานเป็นสำคัญ ให้ความสำคัญกับอำนาจหน้าที่ และขั้นตอนการทำงาน เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงทุกขั้นตอนการทำงาน ที่อาจจะส่งผลให้บรรลุเป้าหมายได้ตามวัตถุประสงค์ สำหรับความเสี่ยงต้องพิจารณาถึงขั้นตอนต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงและหาปัจจัยความเสี่ยง มีเป้าหมายเป็นตัวตั้ง ทั้งนี้มีผู้แทนจากทุกสำนักต่าง ๆ เข้ารับการฝึกปฏิบัติ