สกศ. ลุย Workshop ทำแผนปฏิบัติการพัฒนาระบบสะสม-เทียบโอนความรู้ตามกรอบคุณวุฒิ
วันนี้ (๗ ธันวาคม ๒๕๖๓) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ) เข้าร่วมการประชุมจัดทำแผนปฏิบัติการ และแนวทางการพัฒนาระบบการสะสมและเทียบโอนผลการเรียนรู้และประสบการณ์การทำงานในรูปแบบระบบแห่งชาติ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมอภิปราย อาทิ นางศิริพรรณ ชุมนุม นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ นายวณิชย์ อ่วมศรี นางสิริรักษ์ รัชชศานติ และนายสาโรจน์ ขอจ่วนเตี๋ยว พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงาน เข้าร่วมหารือ ณ ห้องประชุมศึกษิตสโมสร อาคาร ๒ ชั้น ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ เปิดเผยถึงการดำเนินงานเรื่องกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ของ สกศ. ที่ผ่านมา ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ทั้ง ๔ ชุด ครอบคลุมทั้ง ๔ ด้าน คือ การขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ การพัฒนาระบบการเทียบโอนผลการเรียนรู้และประสบการณ์ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ การพัฒนาระบบเครือข่ายฐานข้อมูล และการบริหารและกำกับติดตามการพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เป็นการระดมความคิดเห็นเพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางการพัฒนาระบบสะสมและเทียบโอนผลการเรียนรู้และประสบการณ์การทำงานให้เกิดขึ้นในรูปแบบระบบแห่งชาติ
จากนั้นที่ประชุมร่วมกันหารืออย่างกว้างถึงแผนปฏิบัติการของคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเทียบโอนผลการเรียนรู้และประสบการณ์ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ซึ่งย้ำจุดหลักคือการเชื่อมโยงคุณวุฒิการศึกษากับมาตรฐานอาชีพ ประกอบกับรูปแบบการเรียนรู้ต้องยืดหยุ่นเพื่อเปิดโอกาสให้การศึกษาสามารถเข้าถึงทุกช่วงวัย รวมถึงการประกันคุณภาพซึ่งเน้นการประเมินในสิ่งที่ผู้เรียนมีความรู้มากกว่าสิ่งที่ถูกสอน และกำหนดเป้าหมาย ๓ กลุ่ม ดังนี้ ๑) คนที่อยู่ในระบบการศึกษา ๒) กำลังคนในตลาดแรงงาน เพื่อเพิ่มคุณวุฒิตามประสบการณ์การทำงาน และ ๓) กลุ่มผู้ว่างงานที่ต้องการพัฒนาตนเองให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดแรงงาน
พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงผลลัพธ์ของคณะอนุกรรมการ ฯ ชุดนี้ว่าควรจะได้เกณฑ์มาตรฐานของชาติที่ระบุชัดถึงระดับการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิ เพื่อเป็นเกณฑ์กลางที่ทั้งประเทศต้องนำไปใช้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และหารือแนวทางการพัฒนาระบบการสะสมและเทียบโอนผลการเรียนรู้และประสบการ์ทำงานในรูปแบบระบบแห่งชาติ โดยกำหนดแผนการดำเนินงาน ระยะที่ ๑ ศึกษาหลักสูตรที่เปิดสอนโดยยึดโยงกับมาตรฐานอาชีพเป็นหลัก และประมวลผลข้อมูลเพื่อสร้างหลักเกณฑ์ระดับชาติ ระยะที่ ๒ สร้างต้นแบบนำสู่การปฏิบัติ และติดตามผลการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (AQRF) ซึ่งในอนาคตจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายกำลังคนระหว่างประเทศสมาชิกอย่างเสรี นำไปสู่การปรับค่าตอบแทนให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้น เพื่อปลดล็อกและเปิดกว้างทางการศึกษาสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ความคิดเห็นทั้งหมดจะนำไปสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการชุดหลัก เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติที่มีรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธานพิจารณาต่อไป