อนุ กกส.ปฏิรูปความเหลื่อมล้ำ ฯ ย้ำเร่งปรับเงินอุดหนุนรายหัว รร.ขนาดเล็ก-ห่างไกลตามจริง ตะลุย sandbox เมืองเลยกลางเดือน ธ.ค. เจาะข้อมูลเชิงลึก
วันนี้ (๓ ธันวาคม ๒๕๖๓) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ) ร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (อนุ กกส.ปฏิรูปความเหลื่อมล้ำฯ) ครั้งที่ ๕/๒๕๖๓ โดยมี ศาสตราจารย์ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ เป็นประธาน ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
ที่ประชุมได้หารืออย่างกว้างขวางถึงผลการศึกษาของ สกศ. เรื่องค่าใช้จ่ายและแนวทางสนับสนุนโรงเรียนในพื้นที่ทุรกันดารให้สอดคล้องกับความจำเป็นและบริบทพื้นที่นำไปสู่การวิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อเสนอแนวทางสนับสนุนโรงเรียนในพื้นที่ทุรกันดาร ภายใต้การจัดสรรเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายไปยังโรงเรียนและผู้เรียน ๕ รายการ ครอบคลุมทั้งค่าจัดการเรียนการสอน ค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบ และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ซึ่งประมวลข้อมูลโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.)
แม้เด็กและเยาวชนจะได้มีโอกาสเข้าเรียนในการศึกษาระดับพื้นฐานที่สูงขึ้น แต่สถานศึกษาในแต่ละแห่งก็มีทรัพยากรทางการศึกษา ทั้งด้านอุปกรณ์การศึกษา บุคลากรทางการศึกษา มีความพร้อมในการให้การศึกษาที่มีคุณภาพแตกต่างกัน ดังที่เห็นได้ว่า โรงเรียนในเมืองมีความพร้อมกว่ามาก ต่างจากโรงเรียนชนบทขนาดเล็กที่ยังขาดแคลนอยู่มาก
รายงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า คะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ขั้นพื้นฐาน (o-net) เฉลี่ย ๕ วิชา ชั้น ป.๖ ของโรงเรียนประถมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ สูงกว่าโรงเรียนขนาดเล็กประมาณร้อยละ ๓๒ ในปี ๒๕๖๐ ซึ่งหากเทียบกับปี ๒๕๕๒ ซึ่งต่างกันเพียงร้อยละ ๑๔ แล้วจะพบว่า ความเหลื่อมล้ำกลับเพิ่มสูงกว่าเดิม
ผลการทดสอบโอเน็ตวิชาคณิตศาสตร์ชั้น ป.๖ และ ม.๓ แยกตามพื้นที่ตั้ง ชี้ให้เห็นว่าโรงเรียนนอกเขตเทศบาลโดยเฉลี่ยได้คะแนนน้อยกว่าโรงเรียนที่ตั้งในเขตเทศบาลเพียงเล็กน้อย แต่ในระดับมัธยมมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำของคุณภาพการศึกษา ที่แม้เด็กจะอยู่ในโรงเรียน แต่ไม่ได้หมายถึงว่าโรงเรียนทุกแห่งจะมีคุณภาพการศึกษาเท่าเทียมกัน เรื่องของความเหลื่อมล้ำจึงต้องแก้ปัญหาเรื่องความแตกต่างของคุณภาพการศึกษาไปด้วยพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม งานวิจัย สกศ. ชี้ว่าควรเร่งเพิ่มเงินอุดหนุนการเรียนการสอน (เงินอุดหนุนรายหัว) ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่นักเรียนระดับชั้นอนุบาล ๑ จนถึง ม.๖ ใน ๕ รายการค่าใช้จ่าย หลังใช้ฐานตัวเลขเก่ามาตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งมีอัตราเงินเฟ้อสะสมร้อยละ ๑๖ ดังนั้น ต้องเร่งปรับปรุงตามสภาพการจ่ายจริงให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล
ทั้งนี้ อนุ กกส.ปฏิรูปความเหลื่อมล้ำ ฯ และคณะทำงาน สกศ. เตรียมลงพื้นที่จังหวัดเลย ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๓ ใช้พื้นที่เพื่อการพัฒนาและทดสอบนวัตกรรม (sandbox) เพื่อจัดการประชุมความคิดเห็น "การบูรณาการความร่วมมือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา"
กำหนดลงพื้นที่ ๔ แห่ง ๑) โรงเรียน ตชด. บ้านหนองแคน ตำบลนาด้วง อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย ๒) โรงเรียนบ้านนาสีสลากกินแบ่งสงเคราะห์ที่ ๕๙ ตำบลจอมศรี อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ๓) โรงเรียนบ้านแก่งม่วง ตำบลท่าศาลา อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย และ ๔) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) จังหวัดเลย
ทั้งนี้ เพื่อจะให้เห็นภาพชัดว่าค่าใช้จ่ายในเรื่องใดที่รัฐควรจะสนับสนุน และสนับสนุนจำนวนเท่าไรในแต่ละระดับชั้นให้สอดคล้องกับลักษณะของโรงเรียนในพื้นที่ทุรกันดาร และรายการค่าใช้จ่ายจำเป็นของโรงเรียนพื้นที่ทุรกันดารที่แตกต่างจากโรงเรียนทั่วไป