สกศ.ประชุมสร้างความรู้ความเข้าใจแผนระดับ ๓ เพื่อความร่วมมือหน่วยงานในศธ. และหน่วยงานที่จัดการศึกษาทุกระดับ

image

 

          สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กำหนดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ประเด็น การติดตามประเมินแผนงานโครงการด้านการศึกษาที่สอดคล้องกับแผนระดับ ๓ ตามบทบาทภารกิจของสภาการศึกษา ระหว่างวันที่ ๙ ถึง ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ณ โรงแรม เดอะเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันถึงแนวทางในการขับเคลื่อนแผนงานโครงการที่ส่งผลให้บรรลุค่าเป้าหมายของแผนทุกระดับ และนำไปสู่ข้อเสนอแนะ ทบทวนความสอดคล้องของแผนงานโครงการที่ผ่านมาของหน่วยงานที่จัดการศึกษาของส่วนกลาง ดำเนินการรายงานผ่านระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ eMENSCR เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอไปสู่แผนระดับ ๓ ต่อไป นอกจากนี้ มุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาทุกระดับ จำนวนกว่า ๒๐๐ คน

          ดร.พีรศักดิ์  รัตนะ  รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดการประชุมว่า กิจกรรมครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา หน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา จะได้รับรู้รับทราบร่วมกันถึงความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงในแต่ละภารกิจของหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา เพื่อร่วมกันวิเคราะห์สังเคราะห์ประเด็นต่าง ๆ ในการนำไปสู่การจัดทำแผนงานโครงการของแต่ละหน่วยงานที่สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ๒๓ ประเด็น และเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศเรื่องนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการที่เร่งรัดผลักดันในภาพรวมของกระทรวงให้เป็นไปตามตัวชี้วัดและเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ จึงนับเป็นเรื่องที่ดีสำหรับแนวทางในการจัดทำแผนงานโครงการของหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะนำไปจัดทำแผนงานโครงการประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ และในปีต่อ ๆ ไป

          ด้าน ดร. อุษณีย์  ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้เรียนรู้วิธีการเขียนแผนตามยุทธศาสตร์กลไกแบบ X Y Z ตามเป้าหมายในปี ๒๕๖๕ มีความเข้าใจเกี่ยวกับ Key Success Factors และ Value Chain  ที่จะนำมาเขียนเป็นแผน และการจัดกิจกรรมครั้งนี้ สกศ. เชื่อมโยงกับเรื่องยุทธศาสตร์ชาติมาโดยตลอด และขอให้หน่วยที่จัดการศึกษาเข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนการศึกษาร่วมกัน เพื่อให้การทำงานของเราพุ่งเป้าอย่างมีทิศทางร่วมกันไปที่ยุทธศาสตร์ชาติ ข้อคิดที่ได้จากกิจกรรมผู้เข้าร่วมประชุมจะสามารถคิดนอกระบบโดยใช้ไอเดียเหล่านั้นมาปรับแผนงานโครงการ เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเข้ามาขับเคลื่อน ผลประโยชน์เพื่อประชาชนและประเทศชาติในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาต่อไป

          นางพิจารณา  ศิริชานนท์  ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร กล่าวว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๖๕ กำหนดให้รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติ ระยะ ๒๐ ปี เป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อเป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการร่วมกันไปสู่เป้าหมาย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนและความเชื่อมโยงในการดำเนินงานไปสู่เป้าหมาย คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติได้จัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อถ่ายทอดเป็นแผนระดับ ๒ รวม ๒๓ ประเด็น โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องปฏิบัติ รวมทั้งจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่สอดคล้องกับแผนแม่บทเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่กำหนดแนวทางในการจัดทำแผนงานโครงการที่มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์โดยใช้หลักการความสัมพันธ์เชิงเหตุและผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้หน่วยงานสามารถนำรูปแบบความสัมพันธ์ไปปรับใช้ในการจัดทำแผนงานโครงการประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕

          นางจันทวรรจ์ หรรษาภิรมย์โชค นักวิชาการอิสระ ด้านการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (หมอองค์กร) วิทยากรหลักกล่าวตอนหนึ่งว่า หน้าที่ของหน่วยงานรัฐทุกหน่วยต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ หน่วยงานรัฐจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนแม่บท การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทด้วย ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงานของรัฐต้องบูรณาการดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยใดหน่วยหนึ่ง และแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ประกอบด้วย ๔ แนวทาง คือ ๑) มองเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ๒) การวิเคราะห์ Gap Analysis เพื่อวางมาตรการแก้สถานการณ์และจัดทำข้อเสนอโครงการที่สำคัญร่วมกัน ๓) จัดลำดับความสำคัญของข้อเสนอโครงการ และ๔) จัดทำแผนปฏิบัติราชการ โครงการสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บท

          นายสรวิศ ไพบูลย์รัตนากร มุลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ Saturday School Foundation กล่าวว่า องค์กรนี้มุ่งหวังให้เด็กไทยทุกคนมีศักยภาพอย่างเต็มที่ มีเด็ก ๗ พันคนโรงเรียนที่เข้าร่วมในกรุงเทพฯ ๑๔ โรงเรียน และจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดโอกาสให้เครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นสังคมดีขึ้นได้เข้ามามีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยมีอาสาสมัคร ๒ พันคน การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ต้องยอมรับว่าการศึกษาไทยให้ความสำคัญกับโรงเรียนมาก แต่การเรียนรู้ไม่ได้อยู่เพียงแค่ในโรงเรียนเท่านั้น เด็กจะเลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองสนใจโดยผ่านกิจกรรมหลากหลาย ได้ลงมือปฏิบัติเพื่อให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพตัวเองมากขึ้น จะให้เด็กจากทุกชุมชนได้แสดงผลงานกับความสามารถที่ตนเองได้เรียนมา ส่วนเด็กที่พัฒนาแล้วกลับมาเปลี่ยนแปลงชุมชนสังคมของตน เพื่อให้เด็กได้คิดวิธีการแก้ไขและลงมือปฏิบัติ ส่วนการประเมินผลจะมุ่งที่ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ วัดศักยภาพของเด็ก การเข้าใจตัวเอง การล้มแล้วลุก การพัฒนา การมีพฤติกรรมช่วยเหลือสังคมรอบข้าง

          นางสาวชลิพา ดุลยากร เจ้าของแพลตฟอร์ม inSkru พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน กล่าวว่า ตนเคยเป็นครูอาสามาก่อน อยากเห็นเด็กเรียนรู้ จึงสร้างคอมมูนิตี้เพื่อให้ครูได้มาพบกัน เป็นการส่งต่อห้องเรียนหนึ่งไปสู่ครูอีกท่าน เพื่อครูได้ไอเดียใหม่มาแลกเปลี่ยนวิธีการสอนการเรียนรู้ร่วมกัน มีระบบที่ให้เด็กได้ตอบโต้กับครู และครูจะสามารถสรุปออกมาเป็นรายงานเพื่อนำไปประเมินได้ ตอนนี้มีครูนำไปใช้แล้ว ๔,๓๓๖ ครั้ง ทุกสัปดาห์จะมีไอเดียการสอนใหม่ของครูเสมอ และครูท่านอื่นสามารถดาวน์โหลดไฟล์ได้ และรีวิวได้ว่าเมื่อนำวิธีการสอนไปใช้แล้วเป็นอย่างไร จะเห็นว่าสิ่งที่เราแบ่งปันนั้นนำไปสู่ห้องเรียนไหนบ้าง ช่วงนี้กำลังทดลองกับโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม เป็นโรงเรียนต้นแบบที่จะกระจายไปสู่โรงเรียนอื่น ทำระบบออนไลน์ทั้งโรงเรียน และเรามีพื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน แล้วนำไอเดียของครูมาทำอินโฟกราฟฟิคให้เพื่อที่จะส่งต่อไปให้มากกว่าเดิม จะกระจายไปสู่ห้องเรียนต่าง ๆ ตอนนี้ได้มาแล้วกว่า ๑,๙๐๐ ไอเดียกระจายไปสู่เด็กกว่า ๓ ล้านคน เราเชื่อว่าถ้าครูมีความสุขเด็กจะมีความสุข

          นายวรุตม์ นิมิตยนต์ Deschooling Game กล่าวว่า ภาพของเกมส์ที่อยู่ในสังคมไทยติดลบ ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนความเข้าใจโดยทำให้เห็นว่าประสบการณ์ที่ได้จากเกมส์จะนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้รูปแบบใหม่ เรียกว่า บอร์ดเกมส์หรือเกมส์การจำลอง เราถอดบทเรียนกันแลกเปลี่ยนกันทำความเข้าใจหาข้อตกลง ซึ่งเชื่อว่าบอร์ดเกมส์เป็นเครื่องมือที่สร้างการเรียนรู้รูปแบบใหม่ให้กับสังคมไทย บอร์ดเกมส์ในยุคปัจจุบันได้ถูกเปลี่ยนไปเป็นจำนวนมากเป็นการสร้างประสบการณ์ที่มีต้นทุนน้อย เช่น จำลองสถานที่ท่องเที่ยวทั้งหมดโดยการปั่นจักรยาน และให้ครูออกแบบบอร์ดเกมส์ด้วยตนเอง เพื่อให้ครูมีรูปแบบสื่อใหม่ที่สามารถใช้ในห้องเรียนมีไฟล์ให้ครูเพื่อนำไปใช้ในห้องเรียนได้ สำหรับในต่างประเทศบอร์ดเกมส์เหมือนอุปกรณ์ติดบ้าน เราเชื่อว่าวัฒนธรรมการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ คุณมีสิทธิเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตนเองทุก ๆ เรื่อง สามารถเรียนรู้ได้ผ่านบอร์ดเกมส์ เรากำลังลดทอนความเป็นโรงเรียนลดลง เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในห้องเรียนเท่านั้น เรากำลังสร้างการเรียนรู้รูปแบบใหม่ผ่านบอร์ดเกมส์

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด