เสมา ๑ หารือ สกศ. เคลื่อนงาน NQF ย้ำลดซ้ำซ้อนต่อยอดวิชาการ-ทักษะวิชาชีพ เชื่อมโยง Excellence Center ศธ. ร่วมพัฒนาประเทศ

image

  วันนี้ (๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๓) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ) ประธานการประชุมปรึกษาหารือการขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) โดยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ) พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด ณ ห้องสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น ๒ อาคาร ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) 


     นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ภายหลังหารือร่วมกับ ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา รวมทั้งประธานคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ทั้ง ๔ ชุด ประกอบด้วย นายอรรถการ ตฤษณารังสี ประธานคณะอนุ ฯ ขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ประธานคณะอนุ ฯ พัฒนาระบบการเทียบโอนผลการเรียนรู้และประสบการณ์ตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ประธานคณะอนุ ฯ พัฒนาระบบเครือข่ายฐานข้อมูล และ นายถาวร ชลัษเฐียร ประธานคณะอนุ ฯ บริหารและกำกับติดตามการพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ต้องร่วมขับเคลื่อน NQF ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายการศึกษาสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ​ (ศธ.) ที่ต้องเร่งสร้างกลไกอย่างเข้มแข็งในการเชื่อมโยงระบบการเรียนรู้ของภาคการศึกษากับมาตรฐานการปฏิบัติ​งาน​ที่ตลาดแรงงานยอมรับ และสร้างโอกาสให้คนที่อยู่นอกระบบการศึกษา สามารถเทียบโอนประสบการณ์​ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต นำไปสู่การได้รับค่าตอบแทนที่สอดคล้องกับสมรรถนะเพื่อผลักดันเร่งผลิตและพัฒนากำลังคน เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างมีคุณภาพ​ และตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ


     อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องขับเคลื่อน NQF เพื่อสร้างฐานรองรับการพัฒนาประเทศ ที่มีความยืดหยุ่น คล่องตัว ต่อยอดความรู้ และลดความซ้ำซ้อนระบบคุณวุฒิวิชาชีพ โดยใช้การดำเนินงานของกลไกคณะอนุ ฯ ภายใต้คณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ทั้ง ๔ ชุด ทั้งนี้ จำเป็นต้องสะท้อนสมรรถนะที่แท้จริงในอาชีพต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศและสอดคล้องกับการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศอาชีวศึกษา (Excellence Center) ของ ศธ. ที่ต้องการให้กำลังคนอาชีวะมีทักษะ และมีโอกาสเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยเร็วที่สุด

 


     รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ต้องสร้างความหลากหลายในการเทียบเคียงคุณวุฒิอาชีพที่ไม่ใช่แค่การเรียน หรือวิชาการ แต่เพิ่มความสำคัญด้านอาชีวศึกษา อีกทั้งเด็กหรือผู้เรียนต้องไม่เสียเวลาในการเข้าสู่ระบบอาชีพ ขณะที่ภาครัฐต้องส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการเสริมทักษะใหม่ (Up-skill) และการเพิ่มทักษะใหม่ที่จำเป็น (Re-skill) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานอนาคต

 


      "การเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติต้องเร่งลดความซ้ำซ้อน เพิ่มความคล่องตัวให้ผู้เรียน เพื่อพัฒนาสมรรถนะกำลังคนเชื่อมโยง​ค่าตอบแทนตามมาตรฐาน​อาชีพ เพราะอนาคตกำลังคนสามารถเปลี่ยนอาชีพได้ตลอดเวลา และอาจมากกว่า ๒ - ๓ อาชีพ อย่างไรก็ดีการปรับกรอบต่าง ๆ ต้องดำเนินการเพื่อสร้างสมรรถนะในอาชีพที่มีคุณภาพและตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานที่ชัดเจน" นายณัฏฐพล กล่าวย้ำ


     ทั้งนี้ สกศ. ภายใต้ความร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสถาบันคุณวุฒิ​วิชาชีพ (องค์การ​มหาชน)​ ได้ขับเคลื่อนงาน NQF มาอย่างต่อเนื่องเพื่อเชื่อมโยงกับมาตรฐาน​อาชีพ โดยนำร่องในอาชีพช่างซ่อมอากาศยาน ขณะที่มีการศึกษา วิเคราะห์ความต้องการใช้กำลังคนในภาคอุตสาหกรรมของประเทศใน ๗ สาขาอาชีพต้นแบบที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย ๑) โลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน ๒) โลจิสติกส์และซัพพลายเชน ๓) หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ๔) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและดิจิทัลคอนเทนต์ ๕) อาหารและเกษตร ๖) ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงาน และพลังงานทดแทน และ ๗) แม่พิมพ์ ซึ่งได้มีการกำหนด (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ - ๒๕๖๕ รองรับการขับเคลื่อนพัฒนาทั้ง ๗ + ๑ สาขาดังกล่าว

 


     ด้าน ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า 
สกศ. เร่งขับเคลื่อนใช้งานวิจัยที่เป็นจุดแข็ง สกศ. แปลงสู่การนำมาใช้กำหนดนโยบายและกลยุทธ์การขับเคลื่อนงาน NQF เพื่อผลักดันให้องค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการศึกษาและฝึกอบรมที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ มาตรฐานฝีมือแรงงาน 


      นอกจากนี้ ยังต้องจัดให้มีฐานข้อมูลหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับ NQF เพื่อการประชาสัมพันธ์และเชื่อมโยงกับนานาชาติ กำหนดมาตรการเชื่อมโยงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนและระดับสากล เป็นต้น โดย สกศ. เห็นควรผลักดันให้มีกฎหมายรองรับการขับเคลื่อนงานเพื่อความสะดวกในการผลักดัน NQF ที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้


      คณะอนุ ฯ  ขับเคลื่อนงาน NQF 
ทั้ง ๔ ชุด ภายใต้คณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงาน โดยที่ประชุมยังได้หารือร่วมกันถึงแนวทางการขับเคลื่อนงานตามแผนขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ พ.ศ. ๒๕๖๒ - ๒๕๖๕ ในหลายประเด็น อาทิ การจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนงาน การจัดตั้งองค์กรกลางขับเคลื่อนงาน และกรอบการดำเนินงานของคณะอนุ ฯ ทั้ง ๔ ชุด ดำเนินงานเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด