สกศ. เลือกเชียงใหม่ ลงพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อตอบโจทย์แผนปฏิรูปประเทศ
วันนี้ (๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๓) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการปฏิรูปโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา ครั้งที่ ๓/๒๕๖๓ โดยมีประธานคณะทำงาน (นายอภิมุข สุขประสิทธิ์) พร้อมด้วย รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) และผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สกศ.
จากการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษากับประธานคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา คณะที่ ๕ ด้านการปฏิรูปโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา ได้นำเสนอภาพรวมในการดำเนินงานทั้งด้านข้อมูลและข้อจำกัดต่าง ๆ ในเรื่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ความเป็นอิสระของสถานศึกษา และเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งคณะอนุกรรมการโครงสร้าง ฯ จะดำเนินการตามกรอบและระยะเวลาที่กำหนด และจัดทำข้อเสนอแนะเชื่อมโยงกับคณะอนุกรรมการด้านอื่น ๆ โดยยึดหลักการจัดการศึกษาตลอดชีวิต พัฒนาคนทุกช่วงวัยตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึงวัยผู้สูงอายุ เพื่อจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา
โดยที่ประชุมได้ร่วมหารือถึงแผนปฏิรูปประเทศฉบับปรับปรุง ซึ่งคณะอนุกรรมการโครงสร้าง ฯ จะได้เร่งดำเนินการ ๓ เรื่องหลักดังกล่าว ได้แก่ ๑) ความเป็นอิสระของสถานศึกษาในการบริหารการจัดการศึกษา ทั้งด้านวิชาการ บริหารงานบุคคล งบประมาณ และการบริหารงานทั่วไป ๒) การพัฒนานวัตกรรมการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยมีกฎหมายว่าด้วยพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๒ นำร่องเพื่อให้สถานศึกษามีอิสระการดำเนินงาน โดยมุ่งให้เกิดโรงเรียนจัดการตนเอง (Autonomous School) เพื่อให้ผู้เรียนมีสมรรถนะทั้งด้านความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ดีขึ้น ๓) ปรับปรุงโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ โดยรวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารการจัดการศึกษามีคุณภาพตรงตามที่สังคมต้องการ
โดยทางคณะอนุกรรมการโครงสร้าง ฯ จะเน้นการลงพื้นที่จริงเพื่อทราบข้อมูลเชิงลึกและประเด็นปัญหา และนำข้อมูลจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะนำร่องทดลองใช้ในพื้นที่นวัตกรรม และการจัดตั้งคณะทำงานจากหลายหน่วยงานร่วมกันให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ โดยได้เลือกจังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรกเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และสถานศึกษาที่เป็นเป้าหมายในความเป็นอิสระของสถานศึกษา และนำข้อมูลมารวมกับงานวิจัยของ สกศ. เพื่อดำเนินการให้ตรงตามเป้าหมายของแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาฉบับปรับปรุงนี้ต่อไป