สกศ.-คุรุศาสตร์จุฬา ฯ ระดมสมองส่องอนาคต ๒๐ ปี ร่วมออกแบบนโยบายพลิกโฉมระบบการเรียนรู้ข้ามศักราช ๒๕๘๓

image


      วันนี้ (๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ) ประธานเปิดการประชุมระดมความคิดเห็น เรื่อง การออกแบบนโยบายการพลิกโฉมระบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคตในปี ๒๐๔๐ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาทิ ศาสตราจารย์ ดร.พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกัญญา แช่มช้อย ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ อดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษา ทันตแพทย์กฤษฎา เรืองศรีรัชย์ เลขานุการคณะกรรมการภาคีเพื่อการศึกษาไทย พร้อมผู้แทนหน่วยงานด้านนโยบายในองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)

 


      ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ. ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการวิจัยเพื่อสังเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะนโยบายการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกดิจิทัลแห่งอนาคต อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของ สกศ. ที่มีอยู่จำนวนมาก เห็นว่ามีประโยชน์ มีหลายประเด็นน่าสนใจ และสามารถนำมาสังเคราะห์เป็นนโยบายเพื่อแปรสู่การปฏิบัติ เช่น ระบบธนาคารสะสมหน่วยกิต (Credit Bank) กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) การพลิกโฉมการเรียนรู้ดิจิทัล ฯลฯ ทั้งนี้ หนึ่งในนโยบายสำคัญ สกศ. คือการปรับระบบหรือพลิกโฉมการเรียนรู้สอดรับการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล จึงต้องระดมพลังจากหลากหลายภาคส่วน รวมทั้งแนวคิดที่เป็นประโยชน์จากเครือข่ายการศึกษาต่าง ๆ เข้ามาส่งเสริมการขับเคลื่อนการศึกษาของชาติที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล และสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการศึกษาไทยต่อไป

 


      งานวิจัย "พลิกโฉมระบบการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจใหม่ที่มีความสุขอย่างมีคุณค่า" ภายใต้ความร่วมมือ สกศ. และคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการรวบรวม วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อมูลจนได้วิสัยทัศน์การศึกษาไทย คือ ระบบการศึกษาไทยเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้เรียนให้มีความสุขอย่างมีคุณค่า สามารถสร้างสรรค์สังคมและเศรษฐกิจใหม่ที่พึงประสงค์ สอดรับการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคตในปี ๒๐๔๐ หรือ พ.ศ. ๒๕๘๓


     รายงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าจำเป็นต้องสร้างสรรค์ให้คนไทยมีคุณภาพครอบคลุม ๖ ด้าน ๑) คุณภาพทางสังคม เพื่อสร้างสังคมอยู่ดีมีสุข สร้างสังคมคุณธรรมและเสมอภาค ๒) คุณภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ๓) คุณภาพทั่วไป เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่สร้างอนาคต เป็นพลเมืองโลกที่มีคุณภาพและความรับผิดชอบ ๔) คุณภาพทางเทคโนโลยี รองรับการพลิกผันทางดิจิทัล ร่วมงานกับเทคโนโลยีได้ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ๕) คุณภาพทางสิ่งแวดล้อม ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติที่มีความผันผวนและรุนแรงมากขึ้น 
และ ๖) คุณภาพทางการเมือง มีความเข้าใจประชาธิปไตยแบบมีสาวนร่วมของภาคประชาชนที่มีคุณภาพ 

 


      อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเชิงนโยบายนี้มีลักษณะเป็นพลวัต ที่มีการกำหนดเป้าประสงค์ และแนวทางเชิงยุทธศาสตร์ไว้อย่างกว้างขวางเพื่อเปิดโอกาสให้สถานศึกษานำไปปรับใช้ในการออกแบบผลลัพธ์การเรียนรู้ การประเมินการเรียนรู้ รูปแบบการเรียนรู้ และบริการจัดการทรัพยากรการเรียนรู้ที่มีลักษณะเฉพาะที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละสถานศึกษาโดยกำหนดเป้าหมายชีวิตของผู้เรียนเป็นรายบุคคล ซึ่งจำเป็นต้องระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาสังเคราะห์ข้อเสนอที่มีประโยชน์นำมาปรับงานวิจัยให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด


      ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ อดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาในอีก ๒๐ ปีข้างหน้ามีความพลิกผันไปตามสถานเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม อาจเป็นภาพที่ไกลมาก อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย จุดเน้นการพัฒนาคนไทยต้องมีการปรับเปลี่ยนตามไปด้วย เช่นเดียวกับความคาดหวังจะพลิกโฉมระบบการศึกษาแห่งอนาคต จำเป็นต้องเชื่อมกับทิศทางการพัฒนาในโลกที่จับต้องได้จริงจะช่วยให้การวิจัยหรือบทบาทของการค้นคว้าวิจัยตอบโจทย์ตรงตามความต้องการและนำไปใช้ได้จริง


     ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ กล่าวเสนอแนะด้วยว่า บทบาทของครูยังมีความสำคัญและต้องเพิ่มระดับการพัฒนาทรัพยากรการเรียนรู้ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น การยกระดับสมรรถนะ หลักสูตร แหล่งเรียนรู้ การสนับสนุนต่าง ๆ ฯลฯ จะช่วยสร้างความเข้มแข็งด้วยการส่งผลกระทบเชิงบวกให้เกิดความสอดคล้องเชื่อมโยงกันระหว่างการศึกษาในทุดระดับตัก็งแต่ปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และควรขยายรวมไปถึงระดับอุดมศึกษากับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความก้าวหน้าของชุมชน สังคม และประเทศ ทำให้การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน มีทิศทางสอดคล้องกับความเติบโตก้าวหน้าของประเทศบนฐานทรัพยากรและคุณภาพประชากรที่แท้จริงในอีก ๒๐ ปีข้างหน้า


      ทันตแพทย์กฤษฎา เรืองศรีรัชย์ เลขานุการคณะกรรมการภาคีเพื่อการศึกษาไทย กล่าวว่า การออกแบบนโยบายภาพการศึกษาในอีก ๒๐ ปีข้างหน้าเป็นเรื่องยากแต่มีความสำคัญในการวางแผนยกระดับการศึกษาในอนาคต จุดเน้นสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงที่มีตลอดเวลา ซึ่งในอนาคตโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยอาจน้อยลงมาก โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วยิ่งขึ้นแต่ไม่แน่นอน การเรียนรู้ด้วยตนเองจะเข้ามาแทนที่ระบบการศึกษา ความท้าทายการจัดทำนโยบายคือความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแนวคิดกระบวนทัศน์ใหม่ (New Paradigm) รองรับการเรียนรู้เทรนด์ใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนมาให้ความสำคัญเรื่องสมรรถนะของผู้เรียนอย่างเข้มข้นมากกว่าใส่ใจรูปแบบ ต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการเรียนรู้กันทั้งระบบทั้งพ่อแม่ ครู และหน่วยจัดการศึกษา เพื่อสามารถออกแแบบการเปลี่ยนแปลงแห่งโลกอนาคตได้

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด