ถกนัดแรกอนุ ฯ พัฒนากำลังคน ระดมสมองรัฐ-เอกชนร่วมปั้น Master Plan เคลื่อนงานคุณวุฒิ ๗ อาชีพตอบโจทย์เร่งด่วนประเทศ
วันนี้ (๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๓) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ) ร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมการบริหารและกำกับติดตามการพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วน ภายใต้คณะกรรมการกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ ที่มี นายถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธาน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน
ร่วมประชุม ณ ห้องสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น ๒ อาคาร ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
ที่ประชุมหารือการขับเคลื่อนงานเป็นนัดแรก ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ (ร่าง) แผนขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ พ.ศ. ๒๕๖๒ - ๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๖๓
โดย สกศ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการได้ดำเนินการปรับแก้ (ร่าง) แผนขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิ ฯ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ โดยกำหนดแนวทางการดำเนินงาน ตัวชี้วัด และเป้าประสงค์ในแต่ละปี เพื่อเป็นแผนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) ไปสู่การปฏิบัติในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะที่จำเป็นตรงตามความต้องการของภาคประกอบการและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นายถาวร ชลัษเฐียร ประธานคณะอนุกรรมการบริหารและกำกับติดตามการพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วน (อนุ ฯ บริหารและกำกับติดตามการพัฒนากำลังคน) กล่าวว่า แนวทางสำคัญคือการเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการ (Master Plan) ตาม(ร่าง)แผนขับเคลื่อน NQF มุ่งเน้นสร้างความเชื่อมโยงคุณวุฒิในสาขาอาชีพที่จำเป็นสำหรับการพัฒนากำลังคนของประเทศไทย ทั้งยังต้องลงลึกไปถึงการกำหนดมาตรฐานของครูในแต่ละอาชีพทั้ง ๗ สาขาอาชีพนำร่อง โดยมีรายละเอียดขอบเขตความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โครงการผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการและงบประมาณรายปี ที่มีกรอบดำเนินงานระหว่างเดือน พฤศจิกายน ๒๕๖๓ จนถึงสิ้นเดือนกันยายน ๒๕๖๔ ทำให้เหลือระยะเวลาไม่ถึง ๘ เดือน
อย่างไรก็ตาม จะรายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนงานของอนุ ฯ บริหารและกำกับติดตามการพัฒนากำลังคนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๓
ทั้งนี้ ได้มอบหมาย สกศ. ยกร่างแผนปฏิบัติการ ฯ เพื่อพัฒนากลไกในการกำกับ ติดตามและประเมินผลการดำเนินการขับเคลื่อน NQF สู่การปฏิบัติอย่างเป็นระบบรายงานอีกครั้ง
ที่ประชุมได้หารืออย่างกว้างขวางถึงแนวทางและกลไกการพัฒนากำลังคนสอดรับกับ NQF
ที่มีความสอดคล้องกันระหว่างการผลิตกำลังคนกับความต้องการใช้กำลังคนในภาคอุตสาหกรรมของประเทศใน ๗ สาขาอาชีพต้นแบบที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย ๑) โลจิสติกส์โครงสร้างพื้นฐาน ๒) โลจิสติกส์และซัพพลายเชน ๓) หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ๔) เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและดิจิทัลคอนเทนต์ ๕) อาหารและเกษตร ๖) ปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ พลังงาน และพลังงานทดแทน และ ๗) แม่พิมพ์ ซึ่งได้มีการกำหนด (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนในสาขาอาชีพที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนาประเทศตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๒ - ๒๕๖๕ รองรับการขับเคลื่อนพัฒนาทั้ง ๗ สาขา
ที่ประชุมตั้งข้อสังเกตถึงความต้องการแรงงานในช่วงหลังการแพร่ระบาด
โรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) มีแนวโน้มการจ้างงานลดลงในหลายอุตสาหกรรม พบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญกับการลดขนาดองค์กรและนำเทคโนโลยีมาใช้งานให้มากขึ้น ดังนั้นภาคกำลังคนจำเป็นต้องพัฒนาแรงงานที่มีทักษะหลากหลาย (Multi Skills) สอดรับการปรับรูปแบบการจ้างงานที่มีความยืดหยุ่น เช่น จ้างรายชั่วโมง การลดการจ้างลูกจ้างประจำและมาใช้การจ้างงาน outsource แทนการจ้างพนักงานประจำ เป็นต้น