ถกเคลื่อนงานอนุ กกส.ลดเหลื่อมล้ำปี ๖๔ โฟกัสเด็กหลุดระบบการศึกษาเล็งวางโซน sandbox ล็อกนโยบายช่วยเหลือตรงจุด
วันนี้ (๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๓) ศาสตราจารย์ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา (อนุ กกส.) ด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ครั้งที่ ๔/๒๕๖๓ โดยรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ) ร่วมประชุม ณ ห้องสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น ๒ อาคาร ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
สาระสำคัญคือการพิจารณา(ร่าง)แนวทางการดำเนินงานของคณะอนุ กกส.ด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ที่ได้กำหนดเป้าหมายส่งเสริมนักเรียนยากจนและนักเรียนยากจนพิเศษในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในสถานศึกษาทุกสังกัดได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนสอดคล้องสภาพค่าใช้จ่ายจริงกับค่าครองชีพปัจจุบันมากกว่าร้อยละ ๙๕ ครูและสถานศึกษาที่มีนักเรียนยากจนจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ได้รับการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนแก่นักเรียนที่ขาดแคลน ลดจำนวนเด็กเยาวชนที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มากกว่าร้อยละ ๒๕ เช่นเดียวกับการลดอัตราเด็กหลุดจากระบบการศึกษาภาคบังคับ ส่งเสริมให้นักเรียนยากจนด้อยโอกาสได้ศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า ๒ เท่า เพิ่มสัดส่วนเด็กปฐมวัยในครอบครัวผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์มากกว่าร้อยละ ๕๐ มีความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา และการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาของประเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษามีสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๕ เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมได้หารือร่วมกันถึงการกำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสม ภายใต้การใช้เครื่องมือ/กลไกในการผลักดันแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาไปสูการปฏิบัติ ครอบคลุมทรัพยากรทางการศึกษา ระบบสารสนเทศ เทคโนโลยีที่สนับสนุนการเข้าถึงการศึกษา/การเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กฎหมาย กฎระเบียบ รวมทั้งเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ด้านการเงินและการคลัง โดยสร้างความเชื่อมโยงหน่วยงานจัดการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษา ตามอัธยาศัย (กศน.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ทั้งนี้ เพื่อสังเคราะห์ข้อเสนอแนวทางในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยเร่งระดมความคิดเห็นเพื่อเตรียมกำหนดพื้นที่ลงเก็บข้อมูลทดลองและส่งเสริมนวัตกรรมการศึกษาเชิงพื้นที่ (Sandbox) ที่เหมาะสมต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการประชุมสภาการศึกษา (กกส.) ครั้งที่ ๗/๒๕๖๓ เมื่อ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๓ โดยคณะอนุ กกส.ด้านการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นำเสนอผลการประชุมระดมความคิดเห็น "การบูรณาการความร่วมมือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา : กรณีศึกษาจังหวัดน่าน" ต่อ กกส. ซึ่งภายหลังคณะนักวิชาการ สกศ. ลงพื้นที่โรงเรียน ตชด.พีระยานุเคระห์ ๓ อำเภอแม่จริม โรงเรียนบ้านปางเป๋ย อำเภอเมืองน่าน โรงเรียนภูคาวิทยาคม อำเภอปัว และ กศน.อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึก และได้สังเคราะห์ประเด็นที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเด็น ๑) การเดินทาง มีความยาวลำบาก ใช้เวลานาน ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการจัดกิจกรรม/โครงการ ๒) การจัดการเรียนการสอน เด็กส่วนใหญ่ไม่สามาถสื่อสารด้วยภาษาไทย ขาดอุปกรณ์สำหรับการเรียนผ่านสื่อออนไลน์ ครูไม่ครบชั้น และ ๓) การบริหารจัดการ เงินอุดหนุนรายหัวที่ได้รับจัดสรรไม่เพียงพอ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่รู้หนังสือ ฐานะยากจน ส่งผลให้โรงเรียนต้องดูแลทั้งด้านการศึกษา ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายในการดูแลนักเรียนพักนอน ทั้งหมดสืบเนื่องจากสภาพบริบทพื้นที่โรงเรียนตั้งอยู่บนพื้นที่สูง ห่างไกลจากตัวเมือง ขาดความพร้อมด้านสาธารณูปโภค รถประจำทาง อีกทั้งผู้ปกครองและนักเรียนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์