สภาการศึกษา วิเคราะห์สภาวะการศึกษาไทย “มิติใหม่” ผ่านประเด็นโลกออนไลน์ ด้วยระบบ “Social Listening”
วันนี้ (๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๓) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) และ รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.พีรศักดิ์ รัตนะ) ร่วมเปิดประชุมนำเสนอ “ผลการวิเคราะห์ประเด็นร่วมสมัยทางการศึกษาที่สาธารณชนให้ความสำคัญและส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาบนสื่อ Digital Platform” โดยมี ผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา (นางศิริพร ศริพันธุ์) ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร (นางนันทิชา ไวยนพ) บุคลากรของทั้งสองสำนัก และผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์และติดตามข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์ (Social Listening) ร่วมประชุม ณ ห้องภุชงค์ เพ่งศรี อาคาร ๑ ชั้น ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
สำหรับการวิเคราะห์สภาวะการศึกษาไทย เป็นภารกิจสำคัญที่สำนักประเมินผลการจัดการศึกษาดำเนินการเป็นประจำทุกปี เพื่อวิเคราะห์สถานะและข้อมูลสถิติทางการศึกษาไทย รวมถึงประเด็นความเคลื่อนไหวทางการศึกษา และนำมาจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทในแต่ละช่วงเวลา
ในปี พ.ศ.๒๕๖๓ นี้ สกศ. ได้นำประเด็นร่วมสมัยทางการศึกษาที่สาธารณชนให้ความสำคัญมาเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์สภาวะการศึกษาไทย โดยการใช้ระบบ Social Listening ที่สามารถรับทราบความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ผ่านการสืบค้นด้วยคำสำคัญ (Keyword) การอ้างชื่อถึง (Mention) และการเน้นคำด้วยแฮชแท็ก(Hashtag) ในสื่อต่างๆ ที่เปิดการเข้าถึงเป็นสาธารณะ ได้แก่ Facebook Twitter Youtube Instragram และเว็บไซต์ต่างๆ
ทั้งนี้ สกศ. ได้รวบรวมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และการวิพากษ์วิจารณ์การศึกษาในทุกแง่มุม ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม – ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๓ มาจัดทำเป็นประเด็นสำคัญที่โลกออนไลน์กล่าวถึงการศึกษาใน ๖ ด้าน ได้แก่ ๑) คุณภาพการศึกษา ๒) ความเหลื่อมล้ำและโอกาสทางการศึกษา ๓) การตอบสนองความเปลี่ยนแปลง ๔) ประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา ๕) การบริหารจัดการศึกษา และ ๖) ผลการดำเนินงานของ สกศ. ผลการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า สังคมให้ความสนใจเรื่องการเรียนออนไลน์ในช่วง COVID-19 การสอบ O-Net และ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดย สกศ. จะนำข้อมูลมาประกอบการจัดทำรายงานสภาวะการศึกษาไทย เพื่อปรับปรุงคุณภาพการศึกษาไทยให้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม และก้าวทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกต่อไป