ถกสภาการศึกษาทิ้งทวนเก้าอี้ สุภัทร จำปาทอง ชงครม.อัปเดตแผนการศึกษา 63 ฉบับ New Normal หนุนอัดงบฯ รายหัวอิงราคาสินค้าพุ่ง-ลดภาระผู้ปกครอง

image

 

 

วันนี้ (๓๐ กันยายน ๒๕๖๓) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ) มอบหมายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมสภาการศึกษา (กกส.) ครั้งที่ ๗/๒๕๖๓ โดยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุภัทร จำปาทอง) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.คมกฤช จันทร์ขจร) พร้อม กกส.ผู้ทรงคุณวุฒิ ให้การต้อนรับและร่วมประชุม ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) 


     การประชุม กกส. นัดสุดท้ายของปีงบประมาณ ๒๕๖๓ ส่งท้ายภารกิจ ดร.สุภัทร จำปาทอง ในฐานะเลขาธิการสภาการศึกษา ก่อนย้ายไปดำรงตำแหน่งรักษาราชการปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีวาระสำคัญเพื่อพิจารณาหลายเรื่อง อาทิ (ร่าง) แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ที่มีการหารือร่วมกันระหว่างคณะอนุ กกส.เฉพาะกิจเพื่อการจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาที่มี ศาสตราจารย์ ศรีราชา วงศารยางกูร เป็นประธาน กับคณะอนุ กกส.ทั้ง ๖ คณะ ตลอดเดือนสิงหาคม ๒๕๖๓ โดยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทิศทางการปฏิรูปการศึกษาอย่างรอบด้าน และมีข้อเสนอแนะปรับแก้ในประเด็นต่าง ๆ ที่มีสาระสำคัญ ยืนยันผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... หรือ พ.ร.บ.การศึกษา ฯ ให้มีผลใช้บังคับเร็วที่สุด เพื่อตอบสนองการปรับโครงสร้างองค์กรภายใน ศธ. ตอบโจทย์การปฏิรูปการศึกษาอย่างตรงเป้าหมาย มีการบริหารงานภายใต้กฎกระทรวงที่มีประสิทธิภาพโดยไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายอื่นทับซ้อน และมุ้งเน้นตอบโจทย์การพัฒนาการศึกษาซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมีนัยยะสำคัญ (Big Rock) โดยใช้กฎหมายการศึกษาที่เกี่ยวข้องเป็นเครื่องมือ/กลไกในการแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษา


     ในส่วนการขับเคลื่อนการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตครู บุคลากรทางการศึกษา และอาจารย์สถาบันผลิตครู เห็นควรให้ สกศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานส่วนกลางที่ไม่มีผลประโยชน์และไม่มีปัญหาในการดำเนินงานเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ รวมทั้งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการพลิกโฉมคุณภาพคุรุศึกษาแห่งชาติอีกด้วย เห็นควรให้ความสำคัญนิยาม "พลเมืองดิจิทัล" ควรครอบคลุมถึงความฉลาดรู้ดิจิทัล ความฉลาดรู้สารสนเทศ และความฉลาดรู้สื่อ และเร่งยกระดับพัฒนาศูนย์เทคโนโลยีสาสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
(สป.ศธ.) ให้เป็นสถาบันเทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการศึกษา ซึ่งมุ่งเน้นการขับเคลื่อนไม่ใช่การจัดองค์กรใหม่ มีการทบทวนการใช้งบประมาณที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล และเพิ่มความสำคัญการพัฒนาเด็กปฐมวัยภายใต้ พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย ครอบคลุมในทุกกลุ่มทั้งครอบครัวของเด็กทั่วไปรวมถึงเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ซึ่งทาง สกศ. จะได้นำเสนอร่างดังกล่าวรายงานถึงประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (รองศาสตราจารย์ วรากรณ์ สามโกเศศ) เพื่อพิจารณาต่อไป

 


  

     คณะอนุ กกส.เฉพาะกิจด้านการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง (พ.ศ. ๒๕๖๓ - ๒๕๘๐) ที่มี
ศาสตราจารย์ ดร. สุพจน์ หารหนองบัว ได้จัดทำ (ร่าง) แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๓ ที่มีลักษณะเป็นแผนเชิงแนวคิดที่จะเป็นแผนแม่บททางการศึกษา เพื่อชี้ทิศทางการพัฒนาการศึกษาของประเทศสอดรับการปรับเปลี่ยนชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) โดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในทุกมิติและทุกช่วงวัย ให้มีความพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา มีพัฒนาการรอบด้านและมีสุขภาวะที่ดีเป็นฐานกำลังสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล โดยเร่งสรุปสาระนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามลำดับ


     ที่ประชุมได้หารืออย่างกว้างขวางถึงข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ปรากฏในรายงานทางเลือกและข้อเสนอแนวทางปรับอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือเงินอุดหนุนรายหัว ของคณะทำงาน สกศ. ที่สรุปข้อค้นพบสำคัญหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นมูลค่าเงินอุดหนุนรายหัวที่ลดลง ซึ่งสะท้อนจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อในรอบ ๑๐ ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ - ๒๕๖๓) ขณะที่ผู้ปกครองต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อเครื่องแบบนักเรียนเพิ่มเติมให้ครบชุด เช่น เสื้อ กางเกง กระโปรง ถุงเท้า และรองเท้า รวมทั้งอุปกรณ์การเรียนอื่น ๆ ส่วนโรงเรียนก็ยังต้องใช้แหล่งเงินอื่น เช่น เงินบำรุงการศึกษา เงินบริจาค เงินรายได้สถานศึกษา เพื่อสมทบค่าใช้จ่ายการจัดการเรียนการสอน 

     


     สำหรับโรงเรียนพื้นที่ยากลำบากนั้น มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสูงกว่าโรงเรียนพื้นที่ปกติ กลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากความยากลำบากในการเดินทาง และครูผู้สอนมีค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่ไม่ได้เบิกจ่าย เช่น ค่าน้ำมันรถในการเดินทางไปจัดซื้อวัสดุต่าง ๆ เดินทางไปเยี่ยมเยียนนักเรียน รวมทั้งการเปลี่ยนอะไหล่ยานพาหนะที่ใช้ โดย สกศ. สังเคราะห์ ๒ ทางเลือก    
     ๑) ปรับตามค่าใช้จ่ายจริง ซึ่งต้องปรับเพิ่มวงเงินงบประมาณราวร้อยละ ๘๖.๓๐ หรือเพิ่มขึ้น ๔.๔๑ หมื่นล้านบาท/ปี 

     และ ๒) ปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้น ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นราวร้อยละ ๑๔.๖๒ หรือวงเงินเพิ่มขึ้นราว ๗.๔ พันล้านบาท/ปี พร้อมกันนี้ สกศ. ยังได้เสนอให้มีการเพิ่มเงินอุดหนุนพิเศษสำหรับค่าบริหารจัดการในโรงเรียนพื้นที่ยากลำบาก และเพิ่มเงินอุดหนุนสำหรับค่าประกันอุบัติเหตุและความปลอดภัยของนักเรียนอีกด้วย 


     นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าการประชุมระดมความเห็น "การบูรณาการความร่วมมือเพื่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา : จังหวัดน่าน" ความก้าวหน้าด้านการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบการวิชาชีพครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา ความก้าวหน้าการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล ผลการดำเนินโครงการศึกษาและพัฒนาระบบการเทียบโอนระหว่างการทำงานกับภาคการศึกษาและกลไกการขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิต การจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการศึกษาในลักษณะกองทุน/เงินหมุนเวียน และรายงานผลการขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติประจำปี ๒๕๖๓  


     ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวว่า แนวทางกำหนดนโยบายการศึกษาของ สกศ. มีสาระประโยชน์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะมีข้อค้นพบในหลายประเด็นสะท้อนชัดเจนว่าการศึกษาเป็นหน้าที่และการมีส่วนร่วมของทุกคน เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ครูต้องปรับเปลี่ยนบทบาทใหม่ บริบทในการสนับสนุนจากภาครัฐต้องพึ่งพาร่วมมือกับชุมชน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ต้องคิดนอกกรอบแสวงหาความร่วมมือระหว่างรัฐและชุมชน ผู้ประกอบการ สนับสนุนสนุนโรงเรียนและพัฒนาคุณภาพการศึกษาผลิตกำลังคนที่มีศักยภาพ สร้างแรงงานที่มีทักษะสอดรับตลาดแรงงานและทิศทางการพัฒนาประเทศควบคู่กันไปกับการใช้งานวิจัยตอบโจทย์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ 

 


     ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนาม สป.ที่ ๗๕๙/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๓ แต่งตั้ง ดร.สุภัทร จำปาทอง ดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำรงตำแหน่งรักษาราชการแทนเลขาธิการสภาการศึกษา ตั้งแต่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ เพื่อรอโปรดเกล้า ฯ ในตำแหน่งต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด