อนุ กกส.ด้านปฏิรูปครูฯ รับ (ร่าง) หลักการดำเนินโครงการครูมืออาชีพเพื่อคุณภาพท้องถิ่น (Professional Teacher for Local Quality Project)

image

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 ศาสตราจารย์กิตติคุณชนิตา รักษ์พลเมือง เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา คณะที่ 3 ด้านการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา ครั้งที่ 4/2563 โดยมี รองเลขาธิการสภาการศึกษา (นายสมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต อาคาร 2 ชั้น 2 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา

 

ที่ประชุมได้รับทราบ (ร่าง) แนวทางการดำเนินการกิจกรรมตามข้อเสนอการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ประเด็นปฏิรูปเรื่องที่ 4 : การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต การคัดกรอง การพัฒนา และการบริหารงานบุคคล ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา (คณะทำงานคณะที่ 2 ภายใต้คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจฯ) ที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา คณะที่ 3 ที่เสนอแนะให้จัดตั้งหน่วยงานกำกับปริมาณการผลิตครูให้เป็นหน่วยงานประจำในสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ที่อยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการผลิตครูใหม่ (National Teacher Education Board: NTEB) และให้เพิ่มเติมภารกิจและองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ให้ชัดเจน ซึ่งคณะทำงานคณะที่ 2 ได้มีการปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว กล่าวคือ คณะกรรมการแห่งชาติฯ ชุดนี้ มีภารกิจในการจัดทำแผนความต้องการครูทุกสังกัดในอนาคต และจัดทำแผนการผลิตครูที่สอดคล้องกับความต้องการครูทุกสังกัดในอนาคต ทุกระยะ 10 ปี มีคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการผลิตครูเป็นประธาน เลขาธิการสภาการศึกษาเป็นรองประธาน กรรมการประกอบด้วย เลขาธิการคุรุสภา เลขาธิการ ก.ค.ศ. ปลัดกระทรวง อว. ผู้แทนสถาบันผลิตครู ผู้แทนหน่วยใช้ครู และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 คน เป็นต้น

 

ที่ประชุมได้รับทราบและพิจารณาสาเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับผลสัมฤทธิ์การผลิตครูที่มาจากผลการสอบ ภาค ก. ภาค ข. ตำแหน่ง ครูผู้ช่วย เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา มีทั้งหมด 5 ปัจจัย ดังนี้

1. การสอบแข่งขันเป็นการสอบเพื่อคัดเลือกคนที่มีความสามารถและมีสมรรถนะมากกว่าคนอื่นในกลุ่มที่เข้าแข่งขัน ดังนั้น การสอบคัดเลือกครั้งนี้ แม้จะมีผู้สอบแข่งขันได้ ร้อยละ 6.8 จากผู้มีสิทธิ์สอบทั้งหมด จำนวน 159,314 คน แต่เมื่อพิจารณาจากจำนวนความต้องการแล้ว (อัตราว่าง) พบว่า มีความต้องการจำนวน 18,987 อัตรา มีผู้สอบได้ 10,375 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 55 ของอัตราบรรจุ สรุปได้ว่า การจัดสอบครั้งนี้ ได้คัดเลือกคนที่เก่งเข้ามาได้เกินกว่ากึ่งหนึ่งของความต้องการใช้ครู จึงเป็นที่ยอมรับได้ อนึ่ง เนื่องจากมีผู้เข้าสอบแข่งขันประมาณ 50,000 คน เป็นครูสังกัด สช. ที่มีงานทำแล้วได้มาเข้าสอบแข่งขั้นด้วย

2. ปัจจัยด้านคุณภาพของผู้เข้าสอบ แม้จะมีความหลากหลายในเรื่องของระดับปริญญาก็จริง แต่ผู้เข้าสอบทั้งหมด จะต้องได้รับการพัฒนาเพื่อเตรียมเป็นครูที่ดีด้วย

3. การเปลี่ยนหลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขัน ของ ก.ค.ศ. ทั้งด้านเนื้อหาและคะแนนนั้นเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการผ่านมาทาง กคศ. แต่ในสาระสำคัญก็ไม่แตกต่างจากเกณฑ์เดิม เพียงแต่สัดส่วนคะแนนเท่านั้นที่เปลี่ยนไป

4. ปัจจัยด้านหลักสูตรที่แตกต่างของสถาบันผลิตครู

5. ปัจจัยเรื่องข้อสอบ ต้องสามารถวัดได้เที่ยง วัดได้ตรง มีลักษณะข้อสอบที่วัดความรู้และสมรรถนะตรงกับสิ่งที่บัณฑิตสั่งสมมาหรือไม่ มีความเที่ยงหรือไม่ และมีความตรงหรือไม่ ประเด็นนี้ควรมีการนำคะแนนสอบทั้งหมดมาวิเคราะห์แยกเป็นรายวิชาเอก รายจังหวัด และตัวแปรอื่นต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จะมีการวิเคราะห์ข้อสอบดังกล่าว โดย TDRI และเสนอให้มีการให้ค่าน้ำหนักของข้อสอบด้วย เช่น ให้น้ำหนักคะแนนคณิตศาสตร์มากเกินไปหรือไม่ ซึ่งจะมีผลตอครูที่ถนัดทางศิลปะ จึงเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันได้

 

จากนั้นที่ประชุมร่วมรับฟังและพิจารณารายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะทำงานยกร่างข้อเสนอการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งมี รองศาสตราจารย์สมบัติ นพรัก เป็นประธานคณะทำงานฯ ได้นำเสนอ “โครงการครูมืออาชีพเพื่อคุณภาพท้องถิ่น (Professional Teacher for Local Quality Project)” ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินงานในรายละเอียด (How to) ตามข้อเสนอของคณะทำงานคณะที่ 2 ที่ศาสตราจารย์พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ นำเสนอให้มีโครงการเพื่อ “สร้างครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงและครูผู้สร้างนวัตกร” เป็นโครงการผลิตครูในระบบปิด ที่นิสิตนักศึกษาสามารถใช้ภาษาต่างประเทศในการสอนโดยการคัดเลือกผู้เรียนที่มีผลการเรียนยอดเยี่ยม มีผลงานด้านการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง การสร้างนวัตกรรม มีจิตวิญญาณความเป็นครู และมีอุดมการณ์ในการพัฒนาประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของอัตราการบรรจุครูในแต่ละปี โดยรองศาสตราจารย์สมบัติ นพรัก เสนอว่า หากมีอัตราบรรจุ 20,000 คน จะมีนิสิตนักศึกษาในโครงการ 8,000 คน โดยการคัดเลือกนักเรียนทุนของโครงการทั่วประเทศ 77 จังหวัดๆ ละ 100 คน รวม 7,700 คน มีภูมิลำเนาและเรียนชั้นมัธยมปีที่ 1 – 4 ในจังหวัดนั้นๆ ไม่น้อยกว่า 4 ปี มีผลการเรียนยอดเยี่ยม GPA ตั้งแต่ 3.50 ขึ้นไป มีผลการสอบภาษาอังกฤษ CEFR ตั้งแต่ระดับ A2 หรือเทียบเท่า มีผลงานด้านการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง การสร้างนวัตกรรมที่พิจารณาจาก (Portfolio) มีผลงานด้านจิตสาธารณะและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่พิจารณาจาก (Portfolio) มีจิตวิญญาณความเป็นครู และมีอุดมการณ์ในการพัฒนาประเทศที่พิจารณาจาก (Portfolio) เพื่อศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรครู (ปวค.) สำหรับผู้จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หลักสูตรอนุปริญญาวิชาชีพครู (อชค.) สำหรับผู้จบการศึกษาหลักสูตร ปวค. (มัธยมศึกษาปีที่ 6) และหลักสูตรปริญญาตรี (ต่อเนื่อง) (คบ. กศ.บ.) โดยประชุมเห็นชอบในหลักการและขอให้คณะทำงานฯ ได้วิเคราะห์เพิ่มเติมในประเด็นที่อาจมีการซ้ำซ้อนกับโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (พ.ศ. 2559 – 2572) ที่ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือสามารถนำแนวคิดข้อเสนอนี้นำไปปรับใช้กับโครงการเดิมที่มีอยู่แล้วก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินการผลิตครูที่มีคุณภาพ

 

จากนั้นที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาการดำเนินงานนำร่องการพัฒนาวิชาชีพครูในประเด็นที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อการเปลี่ยนโฉมบทบาท “ครู” ให้เป็นครูยุคใหม่ ทั้งนี้ เพื่อให้มีแนวทางที่ปรากฏเป็นรูปธรรม นำเสนอต่อสาธารณชนได้ โดยจะมีการวางแผนการทำกิจกรรมนำร่องร่วมกับคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา 3 คณะ ได้แก่ คณะที่ 3 ด้านการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา คณะที่ 4 ด้านการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 และคณะที่ 6 ด้านการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด