สกศ.เวิร์กช็อปภาคเหนือรีเช็คสภาวะการศึกษาเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน-ลำปาง-ลำพูน เฟ้นจัดการศึกษา New Normal วิถีท้องถิ่นต้องการคนแบบใดต้องสร้างคนแบบนั้น

image

        วันนี้ (๑๔ กันยายน ๒๕๖๓) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุภัทร จำปาทอง) เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ "การวิเคราะห์สภาวะการศึกษาไทยเชิงพื้นที่ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา" โดย ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ อดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารการศึกษา ผู้แทนสำนักงานศึกษาธิการภาค ๑๕ (ศธภ.๑๕) เขตพื้นที่การศึกษา ๔ จังหวัดภาคเหนือ ผู้บริหารสถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และผู้แทนภาคเอกชน ผู้ประกอบการ รวมกว่า ๑๐๐ คน ร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะต่อสภาวะการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไปในพื้นที่ภาคเหนือ ณ โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงใหม่

        ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ภายใต้สภาวะการศึกษาปัจจุบันที่มีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคที่มีประเด็นสำคัญที่มีความแหลมคมตามบริบทเชิงพื้นที่มีความพยายามแก้ไขปัญหาการศึกษาไทย ๓ - ๔ ประเด็น อาทิ การจัดการเรียนการสอน คุณภาพการเรียนรูู้ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ประสิทธิภาพการบริหารทรัพยากร

        อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอนาคตได้สร้างความท้าทายใหม่ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการศึกษาไทยให้เห็นแล้ว เช่น ปริมาณการเกิดที่น้อยลงทำให้เด็กหายไปจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นราวร้อยละ ๒๒ ในช่วง ๗ ปีที่ผ่านมา สภาวะสังคมสูงวัย (Aging Society) อย่างเต็มที่ในปี ๒๕๖๕ จำเป็นต้องจัดการศึกษารองรับอย่างเหมาะสมตามไปด้วย

        สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ร่วมเก็บข้อมูลสภาวะการศึกษาภาคเหนือ ซึ่งปรากฏมีสภาวะการศึกษาเด่น ๆ ในเรื่องโรงเรียนขนาดเล็ก นักเรียนอยู่ในพื้นนที่ชายขอบ และเป็นเด็กชนเผ่าที่ยังมีปัญหาไร้สัญชาติแตกต่างจากผู้เรียนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ แต่ก็ยังเป็นปัญหาร่วมในด้านคุณภาพการศึกษาและสิทธิประโยชน์ที่ไม่ได้ปิดกั้นการเรียนรู้ โดยมีการเฟ้นหาแนวปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จทางการศึกษาในแต่ละพื้นที่ (Best Practice) ใช้แก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสมเพื่อตอบโจทย์วัฒนธรรมประเพณี ทักษะใหม่ ๆ สำหรับผู้เรียน ฯลฯ นำไปสู่การขับเคลื่อนกลไกการศึกษาเชิงพื้นที่ที่เหมาะสมและเป็นกลไกเชิงนโยบายในระดับประเทศโดยวิเคราะห์ข้อจำกัดและโอกาสใหม่ของระบบการศึกษาเชิงพื้นที่ต่อไป

         ด้าน ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สภาวะการศึกษาไทยครอบคลุมเป้าหมายแผนการศึกษาชาติ ๕ เป้าหมาย ได้แก่ การเข้าถึง ความเท่าเทียม คุณภาพ ประสิทธิภาพ และการตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการตอบโจทย์สำคัญคือ การจัดการศึกษาต้องสอดคล้องกีบบริบทวิถีชีวิตคนในพื้นที่นั้น จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน มีวิถีพื้นฐานอย่างไรต้องสร้างคนแบบนั้น จัดการศึกษารองรับการผลิตกำลังคนที่ตอบโจทย์ท้องถิ่นดีที่สุด การขับเคลื่อนการศึกษาไทยโดยมียุทธศาสตร์ระดับมหภาคที่เน้นความคุ้มค่าทั้งในเชิงงบประมาณและเชิงคุณภาพ รวมถึงจัดการการศึกษาเชิงพื้นที่ เพื่อเพิ่มเติมทักษะที่จะตอบสนองความต้องการของเศรษฐกิจในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อจะได้ก้าวข้ามนโยบายการศึกษาแบบเสื้อโหลมาสู่การส่งเสริมการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นพัฒนารายบุคคลตามความถนัดอย่างเหมาะสม

          ปรากฏข้อค้นพบคือคนไทยสามารถเข้าถึงการศึกษาภาคบังคับได้มากกว่าร้อยละ ๙๐ แต่ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพระหว่างโรงเรียนในเมืองกับชนบท และผู้ที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้ดีจะได้โอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพมากกว่าผู้ที่มาจากครอบครัวยากจน ดังนั้น ข้อมูลสภาวะการศึกษาในแต่ละพื้นที่จะเป็นกลไกหรือเครื่องมือสำคัญที่ช่วยชี้นำเชิงนโยบายให้สามารถจัดการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียนและบริบทพื้นที่ได้ และเพื่อให้คนท้องถิ่นได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง สกศ. จึงต้องเตรียมการเพื่อจัดทำสภาวะการศึกษาภาคเหนือเพื่อหามาตรการรองรับและต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในอนาคต

          ทั้งนี้ ผู้แทนจากหน่วยงานจัดการศึกษาในพื้นที่ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา อุดมศึกษา การศึกษาตามอัธยาศัย รวมทั้ง อปท. และภาคผู้ประกอบการในพื้นที่ ศธภ.๑๕ ร่วมแบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดมความคิดเห็นสภาวะการศึกษาเชิงพื้นที่ การจัดการศึกษาตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ครอบคลุม ๔ ประเด็นหลัก ๑) ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ๒) การจัดการเรียนการสอน และกระบวนการเรียนรู้เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ ๓) ทักษะและความสามารถที่จำเป็นผู้เรียนในศตวรรษที่ ๒๑ และ ๔) การตระหนักถึงพหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลาย เพื่อระดมความคิดเห็นนำไปสู่การจัดทำรายงานสภาวะการศึกษาภาคเหนือต่อไป

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด