OEC Forum ชี้หลอมรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นยั่งยืนจัดการศึกษา New Normal ตอบโจทย์ Glocalization

image

      วันนี้ (๑๐ กันยายน ๒๕๖๓) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ ) ประธานเปิดการประชุมทางวิชาการเพื่อจัดทำข้อเสนอนโยบายทางการศึกษา (OEC Forum) “ยกกำลังสองการจัดการเรียนการสอน ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิสาหกิจชุมชน” โดย ดร.คมกฤช จันทร์ขจร ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารการศึกษา นักวิชาการ ผู้แทนสถาบันการศึกษา ครูภูมิปัญญาไทย ปราชญ์ท้องถิ่น และสื่อมวลชน กว่า ๑๒๐ คน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพ ฯ 

 


      ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ต่อยอดนโยบายการศึกษายกกำลังสอง พัฒนาสู่ความเป็นเลิศ ของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผ่านเวที OEC Forum เร่งสังเคราะห์ประเด็นการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิสาหกิจชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อนการศึกษาประเทศ ภายใต้ตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงของโลก จำเป็นต้องสร้างสภาวะแวดล้อมทางการสนับสนุนการจัดการศึกษาเพื่อต่อยอดสร้างนวัตกรรมทางความคิดสู่การพัฒนานโยบายการศึกษาชาติต่อไป

 


      วงเสวนาที่ประกอบด้วยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิชั้นนำ อาทิ รองศาสตราจารย์ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ดร.เตือนใจ ดีเทศน์ ที่ปรึกษาและผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนในเขตภูเขา นายพรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และผู้แทนฝ่ายผู้เรียน นางสาวปาวิสา สัทธินทรีย์ ประธานสภาผู้แทนนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมแสดงทัศนะสะท้อนบริบทความเปลี่ยนแปลงไปของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ชุมชน ภูมิปัญญา และวิสาหกิจท้องถิ่น

 


     ปัญหาในระบบการศึกษาที่สำคัญของประเทศในช่วงเปราะบางจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาช่วยกันเสริมสร้างระบบการศึกษา และเตรียมพร้อมในการสร้างผู้ประกอบการ สร้างงาน สร้างอุตสาหกรรมที่เข้าสู่ยุคใหม่ 


     ระบบนิเวศทางการศึกษา (Education Eco-System) ครอบคลุมอย่างอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นสังคม สถานศึกษา การเรียนการสอน โดยเฉพาะตัวชี้วัดต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาจำเป็นต้องมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง ไม่ยึดติด เช่น การเปลี่ยนมาใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ 


      ในส่วนกลไกอื่น ๆ มีความเชื่อมโยงกันทั้งผู้ปกครอง ชุมชน ปราชญ์ผู้รู้ในท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชน วิสาหกิจชุมชน ขณะที่ผู้นำทางการศึกษามีความสำคัญต่อคุณภาพการศึกษา บทบาทผู้อำนวยการสถานศึกษา และครู ต้องใช้กระบวนการทางองค์ความรู้ที่มีความหลากกลายเข้ามาผสมผสานในการถ่ายทอดการเรียนรู้สู่ตัวเด็ก 


      ดังนั้น ต้องปรับระบบนิเวศทางการศึกษายุคใหม่ ต้องทำให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่ก้าวข้ามระบบ one-size-fits-all ปรับสู่การพัฒนาทุนมนุษย์ ถือเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ต้องเข้าใจอุปทาน (Supply) และตอบโจทย์อุปสงค์ (Demand) สร้างความเชื่อมโยงกันได้ เปลี่ยนระบบนิเวศทางการศึกษาเป็นการเรียนเพื่อรู้และสร้างอาชีพสร้างรายได้ โดยนำเทคโนโลยีและศักยภาพของปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยในการประเมินดึงศักยภาพของเด็กภายใต้การจัดการเรียนการสอนวิถีใหม่ (New Normal) เลือกใช้ Ed-tech เข้ามาส่งเสริมการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Hibryd Learning) ที่มีประสิทธิภาพ

 


     ประเด็นการจัดการศึกษาชุมชน เพื่อชุมชนสู่การมีงานทำนั้น การจัดการศึกษาต้องปรับตัวในเรื่ององค์ความรู้สามารถอธิบายได้ในเชิงวิชาการควรได้รับการบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนในทุกระดับเพื่อสะท้อนวิถีชีวิต พร้อมนำมิติทางวัฒนธรรมมาใช้ในการพัฒนาอย่างจริงจังและยั่งยืน ถือเป็นพื้นฐานสำคัญส่วนหนึ่งในการปฏิรูปการศึกษา


      การพัฒนาคนต้องมุ่งพัฒนาสมรรถนะคนภายใต้เป้าหมายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้ได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรม และภูมิปัญญาในพื้นที่ ทุกวันนี้ครูอาจารย์ต้องปรับการสอนให้ทันการเปลี่ยนแปลง โลกหมุนไวมากมีงานวิจัยชี้ว่าร้อยละ ๖๕ ของอาชีพปัจจุบันแต่ในอีก ๑๐ ปีข้างหน้าจะไม่มีอาชีพนั้นอีกต่อไปการเรียนวันนี้จึงไม่ใช่แค่นั่งฟังครูสอนอีกแล้วต้องลงมือทำ สร้างทักษะเสริมทักษะให้เชี่ยวชาญจึงอยู่รอดได้ในโลกอนาคต ขณะที่ผู้ปกครองและสังคมต้องปรับทัศนคติการเรียนอาชีวศึกษาเพื่อการมีงานทำ โดยเฉพาะผู้เรียนที่มีความถนัดด้านอาชีพและการสร้างนวัตกรที่มีความคิดสร้างสรรค์สามารถผลิตนวัตกรรมได้ 


     โลกกว้างใหญ่และหมุนเปลี่ยนเร็วมาก อุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการเรียนรู้ของเด็กรุ่นใหม่ จำเป็นต้องส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking) ซึ่งเป็นกระบวนการคิดในรูปแบบใหม่ ๆ ความสามารถในการรับรู้ความคิดใหม่ ๆ และนวัตกรรมนำมาสู่การคิดนอกกรอบ


      อย่างไรก็ดี คนรุ่นใหม่มีศักยภาพที่ดีมากพอที่จะสร้างแรงบันดาลใจ (Inspiration) เชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ภูมิปัญญาที่เป็นไปตามธรรมชาติของสังคมทั้งในชนบทและในเมืองสร้างจุดเด่นให้เกิดขึ้นสามารถพัฒนาท้องถิ่นโลกภิวัตน์ (Glocalization) การจัดการศึกษาไทยต้องเร่งส่งเสริมผู้เรียนให้ได้เรียนรู้เรื่องราวและภูมิปัญญาที่ได้สั่งสมนำมามีส่วนในการจัดการศึกษาที่สะท้อนตัวตนของชุมชนและวิถีชีวิต

 

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด