อนุฯ กกส. เร่งติดตามการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอน ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑
วันนี้ (๙ กันยายน ๒๕๖๓) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา (คณะอนุฯ กกส.) ด้านการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ ครั้งที่ ๓/๒๕๖๓ รองศาสตราจารย์จุลนี เทียนไทย เป็นประธานประชุม มี เลขาธิการสภาการศึกษา ดร.สุภัทร จำปาทอง และรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) พร้อมด้วยคณะทำงาน เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร ชั้น ๓ อาคาร ๕๖ ปี สกศ.
ที่ประชุมได้รับทราบถึงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการทำงานจากการประชุมหารือร่วมกันของคณะอนุฯ กกส. ๓ คณะ ได้แก่ ๑) ด้านการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ คณะ ๒) ด้านการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตคัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา และ ๓) ด้านการปฏิรูปการศึกษาและเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล โดยมีข้อเสนอให้จัดทำ Co – Space ร่วมกับเอกชน การใช้ Knowledge Management มาบริหารจัดการข้อมูลการศึกษา และเห็นควรให้มีการหารือกันเพิ่มเติมเพื่อนำไปบูรณาการในการทำงานร่วมกันต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีการหารือถึงการติดตามการดำเนินงานการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลกิจกรรมการดำเนินงานที่สำคัญระหว่างปี ๒๕๖๐ – ๒๕๖๓ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานความก้าวหน้าดังนี้
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) - ได้ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ พัฒนาแพลตฟอร์ม OBEC Content Center เป็นคลังสื่อดิจิทัล พัฒนาและปรับเปลี่ยนข้อสอบให้เน้นการวัดสมรรถนะที่สำคัญของผู้เรียน
สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) - สร้างและพัฒนาข้อสอบวัดสมรรถนะตามแนว PISA Like
สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) - ได้พัฒนากรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งศูนย์คุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศ
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) - มีประกาศมาตรฐานการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี พ.ศ. ๒๕๖๓
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป. อว.) - ปรับยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพสถาบันอุดมศึกษาสู่การพลิกโฉมระบบอุดมศึกษา พัฒนาทักษะกำลังแรงงาน Reskill Upskill และ Newskill
ที่ประชุมได้รวบรวมปัญหาเรื่องงบประมาณ และบุคลากร โดยจะเร่งปรับปรุงและพัฒนาเพื่อการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อให้สังคมเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญในการปฏิการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ ต่อไป