สกศ. สัมมนาเร่งผลักดัน Credit Bank สู่การปฏิบัติ กฤษณพงศ์ ชี้คนรุ่นใหม่ต้องการเรียนรู้ชีวิต-งานมากกว่าใบปริญญา
วันนี้ (๑ กันยายน ๒๕๖๓) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุภัทร จำปาทอง) เป็นประธานการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อผลการศึกษาและข้อเสนอเชิงนโยบาย ระบบธนาคารหน่วยกิต : ข้อเสนอเชิงนโยบายและกลไกสู่การปฏิบัติ โดยผู้บริหารการศึกษา นักวิชาการ ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนกว่า ๘๐ คน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้องกำแหงพลางกูร อาคาร ๕๖ ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)
ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ. ดำเนินการศึกษาระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ การสะสมหน่วยกิต ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนที่ต้องการพัฒนาตนเอง สามารถเลือกเรียน เฉพาะเรื่องที่จำเป็นต่อการยกระดับทักษะเดิมหรือเพิ่มทักษะใหม่ที่จำเป็นให้กับตัวเองได้เป็นระบบการสะสมหน่วยกิตจากการศึกษาในระบบมหาวิทยาลัย การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรงเพื่อตอบสนองและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวด้วยว่า สถานการณ์โควิด-๑๙ ได้สร้างความปกติใหม่ (New Normal) ทางการศึกษาไทย ที่นำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นทั้ง Onair และ Online ปรับเปลี่ยนจากรูปแบบ Onsite ทำให้ทั้งครู นักเรียน และผู้ปกครอง ต้องปรับตัวตามไปด้วย
อย่างไรก็ดี สกศ. เร่งศึกษาการเทียบเคียงหน่วยกิตในรูปแบบที่มีความหลากหลาย ปรับวิธีการสะสมหน่วยกิตสอดรับการพัฒนาศักยภาพแรงงาน พร้อมระดมแนวคิดจากทุกภาคส่วนนำมาจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายนำระบบ Credit Bank สู่การปฏิบัติเพื่อเพิ่ม-พัฒนาทักษะทางอาชีพ (Up-skill/Re-skill) สะสมเป็นหน่วยกิตรองรับคนรุ่นใหม่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้จริง
ทั้งนี้ สกศ. ขับเคลื่อนโครงการศึกษาและพัฒนาระบบการเทียบโอนระหว่างระบบและประเภทการศึกษาและกลไกการขับเคลื่อนระบบ Credit Bank ในปี ๒๕๖๓ ผ่านความร่วมมือ ๔ ฝ่าย ทั้ง สกศ. - จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ได้ศึกษาหลากหลายแนวทางเพื่อขับเคลื่อน Credit Bank สู่การยอมรับและเกิดเป็นรูปธรรม
ดำเนินการศึกษาลงลึกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เน้นระดับอุดมศึกษาที่เชื่อมโยงกับภาคแรงงาน เน้นระบบคลังหน่วยกิตดิจิทัลสู่การใช้งานจริง โดย สกศ. วิเคราะห์ สังเคราะห์ และเชื่อมโยงระบบสู่การจัดทำนโยบายระดับชาติ ประการสำคัญคือเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณะและหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการนำสู่การปฏิบัติ มุ่งเน้นส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
โอกาสนี้ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ปาฐกถาพิเศษ ระบบธนาคารหน่วยกิตกับการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
ความสำคัญตอนหนึ่งว่า เมื่อโลกเปลี่ยน คนเปลี่ยนไป การจัดการศึกษาไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปเช่นกัน องค์ความรู้เมื่อ ๗๐ ปีที่แล้ว คงไม่สามารถใช้กับยุคปัจจุบันได้อีกต่อไป
ระบบการเรียน ๖:๓:๓ ตั้งแต่ประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรืออาชีวศึกษา ซึ่งจำเป็นต้องเรียนอย่างน้อย ๙ ปี ยังมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการใน ๘ กลุ่มสาระการเรียนรู้ แต่ยังไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตและการประกอยอาชีพเพื่อหารายได้ สมรรถนะการเรียนรู้จึงยังไม่เพียงพอต่อการทำงานยุคปัจจุบัน
เป้าหมายการจัดการศึกษาจึงต้องปรับตัวใหม่ให้สอดคล้องการสร้างคนที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในโลกใหม่ที่ยังไม่รู้อนาคตจะไปในทิศทางใด ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังเป็นปัญหาสำคัญของระบบการศึกษาไทย และเกิดช่องว่างมากขึ้นในยุคโควิด-๑๙ และเชื่อมโยงไปถึงสังคมสูงวัย
โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปมีจำนวนเด็กน้อย ผู้สูงวัยมากขึ้น แม้จะมีอัตราการเรียนต่อเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ดีขึ้น ทว่าต่อไปต้องเร่งวางแผนการจัดการเรียนสัมพันธ์กับอัตราการเกิดที่ต่ำลงและจำนวนผู้เรียนต่อทั้งระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษา ซึ่งส่งผลต่อจำนวนผู้เรียนระดับอุดมศึกษาที่ลดน้อยลง
ยอดกำลังแรงงานไทยปัจจุบันที่มีราว ๔๐ ล้านคน คือปัจจัยขับเคลื่อนพัฒนาประเทศ เพราะนักเรียน/นักศึกษายังไม่สามารถหารายได้ จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นทั้งชีวิตและงาน ไม่ใช่แค่การศึกษาเพียงอย่างเดียวจะพัฒนาประเทศไทยได้ แต่ต้องมองภาพรวมทั้งความมั่นคง การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างรอบด้าน
โจทย์การศึกษาเปลี่ยนไปโดยการอบรมแรงงานทั้งพัฒนาทักษะ (Re-skill) และเพิ่มทักษะ (Up-skill ) ซึ่งระบบ Credit Bank จะมีส่วนเชื่อมโยงระบบการศึกษากับภาคแรงงาน จำเป็นต้องเร่งทบทวนการจัดการศึกษากันใหม่ เพราะครูในศตวรรษที่ ๒๐ ไม่สามารถใช้ความรู้เดิม ๆ สอนให้คนรุ่นใหม่ใช้ชีวิตได้ในศตวรรษที่ ๒๑ เพราะคน Gen Z คนรุ่นใหม่ต้องการเรียนรู้การใช้ชีวิตและทำงานมากกว่าต้องการใบปริญญาอีกต่อไป