สกศ. จัดประชุมสร้างความรู้ความเข้าใจ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.)
เมื่อวันที่ (๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๓) ดร. สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) มีนายสำเนา เนื้อทอง ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ เป็นผู้กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุมภาณุมาศ โรงแรมเดอะรอยัล ริเวอร์ กรุงเทพมหานครโดยมี ดร.คมกฤช จันทร์ขจร ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา ผู้บริหาร ข้าราชการและบุคลากรของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา รวมทั้งเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับโครงการ อพ.สธ.เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
การประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ เลขานุการคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มาให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการ อพ.สธ. และการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “แนวทางการดำเนินงาน อพ.สธ.เข้าสู่แผนแม่บทระยะ ๕ ปีที่เจ็ด”
ดร. สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวโดยสรุปว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และได้เข้าร่วมเป็นหน่วยงานสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๔๙ ในกลุ่ม G2 กลุ่มสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากร ซึ่งนับตั้งแต่เข้าร่วมโครงการฯ สกศ. ได้จัดทำ “แผนแม่บทระยะ ๕ ปีที่หก (ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ - กันยายน พ.ศ.๒๕๖๔) ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา” ซึ่งมีกิจกรรมสำคัญ ๔ ด้าน คือ ๑). การถอดบทเรียนสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน/ศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทย ๒) การจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่น/ครูภูมิปัญญาไทย ๓) การจัดทำเว็บเพจ อพ.สธ.-สกศ. และ ๔) การจัดประชุมวิชาการและนิทรรศการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผ่านมา สกศ. ได้สมาคมภูมิปัญญาไทยเป็นส่วนสำคัญในการร่วมทำกิจกรรมมาโดยตลอด สำหรับปีหน้า สกศ. ได้รับงบประมาณ ซึ่งสามารถวางแผนให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย โครงการ อพ.สธ. นับเป็นโครงการสำคัญของสำนักงานฯ การดำเนินกิจกรรมสามารถดำเนินการผสานกันได้หลายสำนัก และในฐานะที่ สกศ. เป็นหน่วยวิชาการ หน่วยนโยบาย องค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้พัฒนาหรือส่งเสริมหน่วยงานอื่น ๆ การถ่ายทอดและประชาสัมพันธ์เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นในระยะต่อไปจึงจะมุ่งขยายผลกิจกรรมต่าง ๆ โดยเน้นให้เกิดความตระหนัก เพื่อให้เกิดความคงทน ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของพันธุ์พืชที่กำลังหดหาย กลายพันธุ์ เห็นประโยชน์ของพันธุ์พืชและภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา เพื่อให้ยังคงอยู่คู่แผ่นดินไทย ลูกหลานได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป
ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ เลขานุการคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ กล่าวโดยสรุปว่า โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) มีเป้าหมายในการพัฒนาคน พัฒนาบุคลากร ให้เข้าใจและ เห็นความสำคัญของพันธุกรรมพืชและทรัพยากร ให้ร่วมคิด ร่วมปฏิบัติ จนเกิดผลประโยชน์ถึงมหาชนชาวไทยในการดำเนินการ ๆ ภายใต้ “3 กรอบ 8 กิจกรรม” คือ กรอบการเรียนรู้ กรอบการใช้ประโยชน์ และกรอบการสร้างจิตสำนึก บนฐานทรัพยากร ๓ ฐาน คือ ทรัพยากรกายภาพ ทรัพยากรชีวภาพ และทรัพยากรวัฒนธรรมและภูมิปัญญา การดำเนินการที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จในการสร้างเครือข่าย ฐานทรัพยากรท้องถิ่น การจัดทำสวนพฤกษศาสตร์ ทำให้มีฐานข้อมูลมากเพียงพอ ในการดำเนินงานแผนแม่บทระยะ ๕ ปีที่เจ็ด จึงเน้นการทำให้ข้อมูลสื่อถึงกันได้ทั่วประเทศ โดยเฉพาะฐานข้อมูลทรัพยากร ซึ่งฐานข้อมูลนี้จะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในส่วนของสกศ. สนองงานพระราชดำริฯ อยู่ในกลุ่มที่ ๒ คือ กลุ่มหน่วยงานสร้างจิตสำนึก สกศ. สามารถดำเนินงานในกิจกรรมที่ ๘ คือ กิจกรรมพิเศษสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรได้เป็นอย่างดี โดยการทำงานร่วมกับท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ครูภูมิปัญญาไทย ฯลฯ ที่สำคัญคือ ควรหาข้อมูลสู่กิจกรรมที่ห้า คือ กิจกรรมศูนย์ข้อมูลทรัพยากร ซึ่งศูนย์ข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศชาติต่อไป
หลังจากนั้น มีการเสวนา เรื่อง “การยกระดับกระบวนทัศน์การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน : โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.)” โดย วิทยากร ๔ ท่าน คือ ๑. อาจารย์ตรีวิทย์ วินิชสำเภาทิพย์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ๒. อาจารย์วิณัฐธพัชร์ โพธิ์เพชร ผู้อำนวยการโรงเรียนปากเกร็ด และ ๓. อาจารย์เฉลิมศรี จักษุพา ผู้ช่วยรองผู้อำนวยการ กลุ่มการบริหารวิชาการกำกับดูแลงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ปากเกร็ด และ ๔. ครูกฤษณ์ ฤทธิ์เดชา นายกสมาคมครูภูมิปัญญาไทย มี ดร.ปานเทพ ลาภเกษร นักวิชาการศึกษาชำนาญการพิเศษ ดำเนินรายการ
สำหรับช่วงบ่ายมีการฝึกปฏิบัติการในหัวข้อ“เห็ด : จากผู้ย่อยสลายสู่ผู้สรรค์สร้าง” โดย ดร.บุญเลิศ ไทยทัตกุล ครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๓ และทีมงาน เป็นวิทยากร โดยมีการแบ่งกลุ่ม ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ ๑ ราก็คือเห็ด เห็ดก็คือรา กลุ่มที่ 2 เห็ด: อาหารซุปเปอร์ฟู้ด และกลุ่มที่ 3 เสริมสวยด้วยสบู่เห็ด