สกศ.ประชุมเชิงปฏิบัติการ “การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ในด้านการศึกษา”

image

          วันนี้ (๗ สิงหาคม ๖๓) ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ในด้านการศึกษา” ในการประชุมดังกล่าวเพื่อระดมความคิดเห็นถึงสภาพปัญหาอุปสรรคในการมีส่วนร่วมด้านการศึกษาทั้งในส่วนที่เป็นการจัดการศึกษา และการสนับสนุน ส่งเสริม และการช่วยเหลือด้านการศึกษา ณ ห้องบงกชรัตน์ เอ โรงแรมรอยัลริเรอร์ กรุงเทพฯ

 

           ดร. สมศักดิ์ ดลประสิทธิ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า “ความร่วมมือในการจัดการศึกษา ถือเป็นหลักการสำคัญที่สอดคล้องกับเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษา ซึ่ง

ตามมาตรา ๕๔ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ แผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเล็งเห็นถึงความสำคัญของการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะมาร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้มีคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาด้วย ทั้งนี้การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา สามารถแบ่งได้เป็น ๔ ระดับ กล่าวคือ ระดับที่ ๑ การร่วมรับรู้ สร้างความเข้าใจถึงแนวทางร่วมกันถึงอุปปสรรค และสภาพปัญหาของการศึกษาของประเทศ ระดับที่ ๒ การร่วมคิด ร่วมวางแผน และหาทางออกร่วมกันในการจัดการศึกษา ระดับที่ ๓ การร่วมมือ ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการสร้างความร่วมมือที่แต่ละภาคส่วนมาร่วมดำเนินการ ระดับที่ ๔ การร่วมรับผิดชอบและรับประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา

ในการประชุมดังกล่าวมีผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.ชนิดา ทัศนสุวรรณ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์จำกัด นายทนงศักดิ์ ทวีทอง นายกเทศมนตรีสุราษฎร์ธานี มาร่วมแสดงความคิดเห็น และมีผู้เข้าร่วมประชุมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้าร่วมจำนวนมาก

 

           จากการประชุมดังกล่าวได้สะท้อนสภาพปัญหาและข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงาน ซึ่งในปัจจุบันภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามีส่วนร่วมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพ และการมีงานทำ การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ด้านการศึกษา การระดมทรัพยการต่าง ๆ การให้ทุนการศึกษา การมีกองทุนสนับสนุนด้านการศึกษา แต่อุปสรรคที่เกิดในปัจจุบันอาจมาจากความไม่ชัดเจนในแนวทางปฏิบัติของภาครัฐ ที่ยังไม่มีกลไกหรือแนวทางการดำเนินการสร้างความร่วมมือที่ชัดเจนมากกว่า หรือภาครัฐออกกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดจนเกิดไป เช่น เรื่องการลดหย่อนภาษีสำหรับภาคเอกชนที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการศึกษา นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคด้านมาตรการเชิงกฎหมาย ส่งผลให้ไม่สามารถเอื้อประโยชน์ในการสร้างความร่วมมือในการจัดการศึกษาของภาคเอกชนได้อย่างเต็มที่ กล่าวคือ ข้อกำหนดและขั้นตอนการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกันระหว่างข้อกฎหมายและแนวทางการปฏิบัติ รวมทั้ง ความไม่ชัดเจนในแนวทางการช่วยเหลือ แนวทางการใช้จ่ายงบประมาณในการจัดการศึกษา และการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ การถ่ายโอนทรัพยากรของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ในการจัดการศึกษา ส่งผลให้ความร่วมมือในการจัดการศึกษายังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ส่วนข้อเสนอและแนวทางการแก้ไข เพื่อให้เกิดความร่วมมือในทุกระดับ จะต้องมีการทะลายกำแพงหรือสิ่งกีดกั้นที่ทำให้เกิดปัญหาในการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเอาบทกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติมากำหนดหรือแก้ไขเพื่อให้สามารถปลดล๊อกเรื่องต่างๆที่เป็นอุปสรรคให้สามารถเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาร่วมจัด สนับสนุน ส่งเสริม และให้ความช่วยเหลือได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ หน่วยงานของภาครัฐที่รับผิดชอบจะต้องเปิดโอกาสและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาร่วมได้มากขึ้น มีการสร้างแจงจูงใจ การสร้างเครือข่าย การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเติมเต็มความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การสนับสนุนให้ข้อมูล เปิดเผยข้อมูลโปร่งใส เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและสามารถเข้ามาร่วมอย่างเต็มความสามารถ ซึ่งจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาจะพบว่า ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มาแบ่งเบาและสนับสนุน ส่งเสริม และช่วยเหลือภาครัฐได้อย่างเต็มที่

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด