สำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุมสัมมนาการส่งเสริมความรู้ด้านกฎหมายการศึกษาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการศึกษา (ครั้งที่ ๖) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองคาย
เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓ (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) รองเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นธานประชุมสัมมนาการส่งเสริมความรู้ด้านกฎหมายการศึกษาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการศึกษา (ครั้งที่ ๖) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนบน) ณ โรงแรมรอยัล นาคารา จังหวัดหนองคาย
ในระหว่างวันที่ ๓๐ – ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ สำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดประชุมสัมมนา เรื่อง การส่งเสริมความรู้ด้านกฎหมายการศึกษาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการการศึกษา (ครั้งที่ ๖) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนบน) ณ โรงแรมรอยัล นาคารา จังหวัดหนองคาย
โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้แทนสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ผู้แทนสำนักงานเขตพื้นที่มัธมศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ผู้แทนสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้แทนสถานศึกษาเอกชนในพื้นที่ ๗ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองคาย จังหวัดเลย จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดนครพนม จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดสกลนคร ซึ่งในช่วงเช้าเปิดการประชุมและบรรยายพิเศษ เรื่อง แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. ๒๕๖๒
โดย ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้กำหนดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการด้านการศึกษาไว้ ๔ ประเด็นได้แก่ ประเด็นที่ ๑ การเรียนฟรี ทั้งหมด ๑๕ ปี ซึ่งเป็นการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มาตรา ๕๔ และคำสั่ง คสช. ที่ ๒๘/๒๕๕๙ เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๑๕ ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ประเด็นที่ ๒ การพัฒนาเด็กปฐมวัย ม.๒๕๘ จ.ด้านการศึกษา (๑) ประเด็นที่ ๓ การพัฒนาครู ม.๒๕๘ จ.ด้านการศึกษา (๓) และ ประเด็นที่ ๔ ในเรื่องการมีกองทุน ม.๒๕๘ จ.ด้านการศึกษา (๒) โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฎิรูปการศึกษา เป็นคณะกรรมการดำเนินการศึกษาและจัดทําข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดําเนินการให้บรรลุเป้าหมายเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีภายใน ๒ ปี ตามมาตรา ๒๖๑ และในส่วนของแผนปฎิรูปประเทศด้านการศึกษา ประเด็นในการปฎิรูป ๗ เรื่อง ได้แก่ เรื่องที่ ๑ การปฎิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศโดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ และกฎหมายลำดับรอง เรื่องที่ ๒ การปฎิรูป
การพัฒนาเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน เรื่องที่ ๓ การปฎิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เรื่องที่ ๔ การปฎิรูปกลไกและระบบการผลิตคัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ เรื่องที่ ๕ การปฎิรูปการจัดการเรียนการสอน เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ เรื่องที่ ๖ การปรับโครงสร้างของหน่วยงานในระบบการศึกษา
เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนและยกระดับคุณภาพของการจัดการศึกษา และ เรื่องที่ ๗ การปฎิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล เป็นต้น และต่อมาเป็นการบรรยาย เรื่อง พระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๖๑
โดยนายชาญชัย มาณจักร์ ที่ปรึกษาและอนุกรรมาธิการด้านการศึกษา กิจการเด็กและเยาวชนในวุฒิสภาและนิติกร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยกล่าวถึงสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฯ เพื่อช่วยเหลือและครูให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งทางสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้กำหนดทิศทางและแนวทางการขับเคลื่อนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในระยะเวลา ๒ ปี ที่ผ่านมีเด็กยากจนได้รับการช่วยเหลือแล้วกว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ คน เป็นต้น
ในช่วงบ่ายเป็นการบรรยาย เรื่อง พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.๒๕๖๒ โดยนางธิดา พิทักษ์สินสุข กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านเด็กปฐมวัย ว่าสถานการณ์ของเด็กปฐมวัยในปัจจุบันพบว่ามีเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๕ ปี
เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สูงถึงร้อยละ ๖๗.๑ สูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศ ที่ร้อยละ ๕๐.๙ และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๒ ปี เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สูงถึง ๒๔.๒ ซึ่งการเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่อายุยังน้อยอาจส่งผลให้เกิดภาวะสมาธิสั้นได้ อีกทั้งยังพบว่า EQ ของเด็กวัย ๖-๑๑ ปี เฉลี่ยทั้งประเทศต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ๒๖% จำเป็นต้องพัฒนา ๔๖% พร้อมทั้งอธิบายถึงสาระสำคัญของพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ.๒๕๖๒ อันมีเจตนารมณ์ให้เด็กปฐมวัยได้รับการดูแลพัฒนาและจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ โดยมีระบบการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่สร้างการมีส่วนร่วม
บูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับชาติ ภูมิภาค ท้องถิ่น ชุมชนจนถึงครอบครัว ให้มีกระบวนการพัฒนาเด็กปฐมวัยที่มีความหลากหลาย แต่เป็นเอกภาพ มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลต่อไป