OEC Forum สกศ.-เอกชนสะท้อนมิติปฏิรูปทุนมนุษย์ เน้น critical thinking อัปเกรดขีดความสามารถประเทศไทย
วันนี้ (๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓) รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์) ประธานเปิดการประชุมทางวิชาการเพื่อจัดทำข้อเสนอนโยบายทางการศึกษา (OEC Forum) ครั้งที่ ๓ "ยกกำลังสองสมรรถนะการศึกษาของประเทศ ผ่านมุมมองดัชนีชี้วัดความสามารถทางการศึกษานานาชาติ" โดยมีผู้บริหาร ผู้แทนสถานศึกษา ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชนกว่า ๑๕๐ คน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ณ ห้อง Mayfair B ชั้น ๑๑ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพ ฯ
ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) มองถึงดัชนีชี้วัดความสามารถทางการศึกษานานาชาติจะเป็นกลไกช่วยพัฒนาระบบการศึกษาสนองนโยบายการศึกษายกกำลังสองภายใต้แนวคิดนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพบุคคลสู่ความเป็นเลิศในแบบฉบับของแต่ละคน เปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้มี คุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยต้องทำความเข้าใจอุปทาน (Supply) เพื่อตอบโจทย์อุปสงค์ (Demand) ทางการศึกษาที่ต้องการเชื่อมต่อกันเพื่อเปลี่ยนระบบการศึกษาสู่ระบบนิเวศทางการศึกษาตอบโจทย์เพื่อความเป็นเลิศได้
ดร.อุษณีย์ กล่าวว่า ผลจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระดับนานาชาติของประเทศไทย ทั้งสถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) และสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษา ประเทศไทยอยู่ในอันดับ ๕๕ ของ IMD ดีขึ้น ๑ อันดับจากปี ๒๐๑๙ โดยไทยมีผลการจัดอันดับภาพรวมอยู่ในอันดับที่ ๔๐ ของ WEF จาก ๑๔๑ ประเทศ มีอันดับลดลง ๒ อันดับจากปีที่ผ่านมา
จึงต้องเพิ่มความสำคัญของการยกระดับการศึกษาไทยเพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของประเทศ ยกระดับทักษะของแรงงานทั้ง Up-skill และ Re-skill เพื่อให้มีทักษะการทำงานตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ปรับตัวได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในยุคโควิด-๑๙ เป็นกำลังคนที่สำคัญในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป
คณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมสะท้อนประสบการณ์ต่างมุมมอง อาทิ นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
รองศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจํานงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และนายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) วิพากษ์กลไกขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนคุณภาพสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันที่เข้มแข็ง
ภาพรวมมุมมอง สสวท.และภาคเอกชนมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ต้องมองข้ามปัญหาการศึกษาของไทยและมุ่งสู่การมองอนาคต หันมาทุ่มเทวางระบบการศึกษาสร้างเด็กรุ่นใหม่ที่มีทักษะคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) สามารถคิดวิเคราะห์ครอบคลุมทุกมิติชีวิต ต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนส่งเสริมทุนมนุษย์ (human capital) เพื่อผลิตกำลังคนให้ตรงกับทิศทางการพัฒนาประเทศและความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคตและทุกภาคธุรกิจ
การสร้างโอกาสทางการศึกษาส่งผลกระทบสำคัญต่อการแก้ปัญหาความยากจน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นการสร้างศักยภาพไทย กำลังเผชิญความท้าทายที่เปลี่ยนไปหลังยุคโควิด-๑๙ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ สังคมผู้สูงอายุ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการลงทุนพัฒนาประเทศ การยกระดับศักยภาพคนไทยทุกช่วงวัยและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์แห่งอนาคต
อย่างไรก็ตาม ผลประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ที่สะท้อนถึงกระบวนการเรียนการสอนของแต่ละประเทศ ซึ่งผลประเมิน PISA ของไทยที่อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาโดยตลอด เพราะกระบวนการเรียนการสอนของไทยไม่ได้เป็นการฝึกให้เด็กอ่านสังเคราะห์ คิดวิเคราะห์ได้ แต่เป็นการฝึกให้เด็กท่องจำ และสอนตามเนื้อหาบทเรียนเป็นหลัก ไม่ได้สอนให้เด็กเข้าใจหลักการของเรื่องนั้น ๆ แล้วสามารถบูรณาการปรับใช้ให้เหมาะสมได้
โรงเรียนไทยต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรที่มุ่งเน้นสมรรถนะ ไม่ใช่ความรู้ ครูต้องปรับกระบวนการเรียนการสอน อำนวยความสะดวกสร้างสถานการณ์ จำลองเหตุการณ์ให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ แก้ปัญหาได้ ไม่ใช่สอนตามโจทย์คณิตศาสตร์และให้สูตรเด็กไปท่องจำเพื่อทำข้อสอบ PISA และจำเป็นต้องประเมินนโยบายการศึกษาว่าทำให้เกิดคุณภาพดีขึ้นจริงหรือไม่ เพราะผลคะแนน PISA คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ปีที่ผ่านมาไม่ได้ต่ำลงแต่ก็ไม่ได้ดีขึ้น
ดังนั้น ควรทำความเข้าใจสถานการณ์การศึกษาไทย มีนโยบายในการส่งเสริมการอ่านอย่างชัดเจน เร่งแก้ปัญหาการคิดวิเคราะห์ และสังเคราะห์ของเด็กที่ต่ำอยู่ให้มีการพัฒนาที่ดีขึ้น ระบบการศึกษาไทยควรส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปในการเรียนการสอนเพื่อสร้างความคุ้นเคยและยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนยุคดิจิทัลเพิ่มขึ้น
ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่นี่