ถกระบบเครดิตแบงก์ สกศ.ก้าวผ่าน Post Covid ผลักดัน New Normal เชื่อมการศึกษาโยงคลังหน่วยกิตประสบการณ์ต่อยอดเรียนรู้ตลอดชีวิต
เมื่อวันที่ (๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๓) (ดร.สุภัทร จำปาทอง) เลขาธิการสภาการศึกษา เข้าร่วมรับฟังแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ในช่วงบ่าย) โดยมี รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) ประธานเปิดการประชุมแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็น "ระบบธนาคารหน่วยกิต : ข้อมูล องค์ความรู้ บทเรียนและการประยุดต์ใช้" และ ผู้บริหาร สถาบันอุดมศึกษา ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ในช่วงเช้า) ณ ห้อง Mayfair A ชั้น ๑๑ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ
ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ดำเนินการศึกษาระบบธนาคารหน่วยกิต หรือ เครดิตแบงก์ โดยความร่วมมือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) รวมทั้งสถาบันอุดมศึกษาเครือข่ายต่าง ๆ มีบางข้อค้นพบชี้นำว่า เครดิตแบงก์ สามารถเชื่อมโยงกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และใช้ได้กับการศึกษาทุกระดับตั้งแต่ระดับประถมศึกษา - อุดมศึกษา มีความสอดรับเหมาะสมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ที่พร้อมพัฒนาสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นความปกติใหม่ (New Normal)
"การเรียนรู้ปัจจุบันไม่จำกัดแค่ภายในห้องเรียนเท่านั้น หน่วยกิตที่เกิดจากการสะสมประสบการณ์เรียนรู้ ตลอดจนการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่สามารถเพิ่มทักษะ Upskill-Reskill นำไปสู่การพัฒนานโยบายการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ" ดร.สมศักดิ์ กล่าว
สกศ. ขับเคลื่อนโครงการศึกษาและพัฒนาระบบการเทียบโอนระหว่างระบบและประเภทการศึกษาและกลไกการขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิต (เครดิตแบงก์) ในปี ๒๕๖๓ มุ่งเน้นส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยการเปิดโอกาสให้ผู้เรียน/ประชาชนได้นำผลการเรียนทั้งความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ทำงาน การฝึกอบรม และการฝึกอาชีพมาเทียบโอนกันได้ใหม่ได้ตลอดเวลา ไม่จำกัดอายุ ทำให้ลดข้อจำกัดของผู้เรียน/ประชาชนสร้างให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
คณะผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสถาบัน อาทิ ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ อดีตรองเลขาธิการสภาการศึกษา รองศาสตราจารย์ ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา) รองศาสตราจารย์ ดร.พิณสุดา สิริธรังศรี วิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติศักดิ์ พันธ์ลำเจียก ช่วยอธิการบดี มทร.ธัญบุรี ดร.ดวงกมล บางขวด กับ ดร.ภัทร ยืนยง จากจุฬา ฯ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้แทนมธ. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา มีสุข มทร.ธัญบุรี ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้จากการลงพื้นที่ศึกษาระบบเครดิตแบงก์ฉบับประสบการณ์จริง
คณะนักวิจัยจุฬา ฯ ลงพื้นที่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๔ จังหวัด สุโขทัย อุทัยธานี ศรีสะเกษ และสตูล ในช่วงโควิด-๑๙ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ คณะนักวิจัย มธ. รวบรวมข้อมูลระบบเครดิตแบงก์ระดับอุดมศึกษาทั้งในประเทศไทย สิงคโปร์ เกาหลี้ใต้ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เพื่อศึกษาความเชื่อมโยงกับภาคแรงงานต่าง ๆ ขณะที่คณะนักวิจัย มทร.ธัญบุรี ศึกษาแนวทางการจัดทำและพัฒนาคลังหน่วยกิตดิจิทัลต้นแบบ (Digital Credit Bank System) และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การประยุกต์ใช้ระบบเครดิตแบงก์ได้จริงในสถานศึกษานำร่อง ๒ แห่ง วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุพรรณบุรีและโรงเรียนอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ภายใต้ข้อจำกัดปัจจุบัน เพื่อระดมแนวคิดหลากหลายมิติเพื่อกำหนดมาตรการที่นำไปสู่การปฏิบัติจริงและยั่งยืน สร้างระบบเชื่อมโยงเครดิตแบงก์ทั้งในระดับเดียวกัน และระหว่างระดับการศึกษาและประเภทการศึกษาที่แตกต่างกัน การสร้างการยอมรับระหว่างกันเพื่อการเทียบโอน รวมไปถึงการสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ผู้ประกอบการ และสาธารณะ การกำหนดหน่วยบริหารจัดการ เช่น มาตรฐานการเทียบโอน
ความร่วมมือ ๔ ฝ่าย ทั้ง สกศ. - จุฬาฯ - มธ. - มทร.ธัญบุรี ได้ศึกษาหลากหลายแนวทางเพื่อขับเคลื่อนเครดิตแบงก์สู่การยอมรับและเกิดเป็นรูปธรรม มีการศึกษาลงลึกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เน้นระดับอุดมศึกษาที่เชื่อมโยงกับภาคแรงงาน เน้นระบบคลังหน่วยกิตดิจิทัลสู่การใช้งานจริง โดย สกศ. วิเคราะห์ สังเคราะห์ และเชื่อมโยงระบบสู่การจัดทำนโยบายระดับชาติ ประการสำคัญคือเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณะและหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการนำสู่การปฏิบัติ
ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่นี่