ยกกำลังสองศักยภาพผู้เรียน เวที OEC Forum ส่องมุมมองวิชาการ-ดนตรี-กีฬา นำสู่นโยบายจัดการศึกษาหลากหลาย

image

  วันนี้ (๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๓) เลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สุภัทร จำปาทอง) ประธานเปิดการประชุมทางวิชาการเพื่อจัดทำข้อเสนอนโยบายทางการศึกษา (OEC Forum) เรื่อง "ยกกำลังสองศักยภาพผู้เรียน ผ่านการประเมินที่หลากหลาย" โดย ดร.จรวยพร ธรณินทร์ กรรมการสภลาการศึกษา (กกส.) ผู้ทรงคุณวุฒิและอดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.ธงชัย ชิวปรีชา ผู้อำนวยกิตติคุณโรงเรียนกำเนิดวิทย์ "อ๊อด คีรีบูน" นายรณชัย ถมยาปริวัฒน์ นักร้องชื่อดังและเจ้าของโรงเรียนดนตรีคีรีบูน จีเนียส มิวสิค และ "ซิโก้" ร้อยตำรวจโท เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ประธานมูลนิธิซิโก้ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ดร.อุษณีย์ ธโนศวรรย์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ให้เกียรติร่วมงาน ณ ห้องปรินซ์บอลรูม ๒ โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพ ฯ

 

 

     สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการศึกษาไทย : การศึกษายกกำลังสอง (Thailand Education Eco-System : TE2S)" ตามนโยบาย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ภายใต้การเปลี่ยนเป็นความปกติใหม่ (New Normal)  ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา ที่มุ่งเน้นพัฒนาการศึกษารายบุคคลเพื่อความเป็นเลิศตอบโจทย์เส้นทางความสำเร็จของชีวิต ซึ่งจำเป็นต้องสร้างกลไก/เครื่องมือวัดประเมินศักยภาพเด็กที่มีความหลากหลาย เช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ และด้านอื่น ๆ เพื่อคัดกรองและดึงศักยภาพความสามารถด้านนั้นของผู้เรียนในระดับต่าง ๆ เพื่อจัดการศึกษาที่เหมาะสม


     ดร.จรวยพร ธรณินทร์ กกส.ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวถึงการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนในรูปแบบพหุปัญญา ควรมุ่งเน้น ๓ วาระสำคัญ ๑) พัฒนาผู้เรียนอย่างยั่งยืนต้องจัดการศึกษารูปแบบที่มีความหลากหลาย ๒) เพิ่มศักยภาพผู้เรียนที่สอดคล้อง New Normal หลังโลกป่วนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) และ ๓) เพิ่มศักยภาพผู้เรียนด้วยพหุปัญญา คือการลงมือปฏิรูปการศึกษา 

 
     อย่างไรก็ดี ปรากฏ ๒ ใน ๑๔ ประเด็นจากวงประชุม THE STANDARD Economic Forum เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน ๒๕๖๓ ระบุหลังจากนี้การว่างงานจะเป็นปัญหาสำคัญมาก ดังนั้น ต้องเพิ่มความสำคัญการจัดการศึกษาอย่างไรให้คนมีงานทำ ไม่ตกงาน และอีกเรื่องที่สำคัญต้องสร้างคนแห่งอนาคต ด้วยการเน้นเรียนรู้ตลอดชีวิต มีศรัทธาแกร่งกล้าที่จะพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง 

 


     การศึกษาเป็นพลวัตที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การเรียนการสอนจึงมีหลายเทคนิคและหลากหลายกรรมวิธีเพื่อรองรับกลุ่มผู้เรียนที่มีความหลากหลายเช่นกัน เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงครูผู้ทำหน้าที่เป็นเบ้าหลอมที่จะสร้างคนที่มีคุณภาพ ต้องสามารถเข้าถึงทั้งความดี ความงาม และความจริง นำไปสู่การสร้างคนที่มีทั้งความรู้คู่คุณธรรม

     ทั้งนี้ ครูต้องสร้างให้เด็กรักที่จะเรียนรู้แล้วจึงรู้ที่จะเรียน เมื่อรู้แล้วว่าทำไมต้องเรียน เรียนอะไร เรียนอย่างไร และเรียนกับใครจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่จะอยู่รอดเพื่อตอบโจทย์ความเป็นมนุษย์ ซึ่งการจัดการเรียนรู้ที่มีความหลากหลาย ควรมุ่งเน้นให้เด็กเรียนรู้จากเรื่องสนุกเพื่อค้นหาสิ่งที่ตนเองรักแล้วจึงมุ่งมั่นสร้างความชัดเจนและเติมเต็มให้ชีวิตทั้งของตนเองและคนรอบข้าง

 


     ขณะที่แนวคิดการวัดและประเมินผลที่เหมาะสมและส่งเสริมความสามารถที่หลากหลายของผู้เรียน ดร.ธงชัย ชิวปรีชา เห็นว่า การจัดการศึกษาควรอยู่ภายใต้ปรัชญาที่มองว่าเด็กแต่ละคนมีความชอบความถนัดที่แตกต่างกัน ต่างคนต่างมีแววเด่นของตนเอง แย่งแยกได้ประมาณ ๑๐ ด้าน ที่แตกต่างหลากหลายไปตามความถนัดในตัวเด็ก เช่น แววนักวิทยาศาสตร์  นักคณิตศาสตร์ ศิลปินนักดนตรี นักกีฬา นักภาษา ผู้นำ นักสร้างสรรค์ นักวิชาการ  นักคิด จึงต้องช่วยกันพัฒนาลูกหลานของเราทุกคนให้รู้จักตนเองว่า เขาคือใคร มีความรัก ความถนัด และความสนใจทางด้านใด 
ส่งเสริมให้เรียนและประกอบอาชีพที่ตนเองรักถนัดและสนใจ ถือเป็นการประเมินตัวเอง (Self Assessment)


     บนพื้นฐานความเชื่อว่า การได้เรียนและประกอบอาชีพ ที่ตนเองรักถนัด และสนใจ ชีวิตจะมีความสุข และมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงสุดในวิชาชีพนั้นเพื่อพัฒนาให้เป็นตัวป้อนที่มีคุณภาพสูงเยี่ยม สามารถศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของโลก จนถึงระดับปริญญาเอกหรือหลังปริญญาเอกเพื่อพัฒนาไปสู่ ความเป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์ นักคิดค้น ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่มีความสามารถระดับสูงเยี่ยม เทียบเคียงกับนักวิจัยชั้นนำของนานาชาติ มีจิตวิญญาณมุ่งมั่นพัฒนาประเทศชาติ มีเจตคติที่ดีต่อเพื่อนร่วมโลกและธรรมชาติ


      สามารถสร้างองค์ ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้กับประเทศชาติ และสังคมไทยในอนาคต ช่วยพัฒนาประเทศชาติให้สามารถดำรงอยู่ และแข่งขันได้ในประชาคมโลก  เป็นสังคมผู้ผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น  สร้างสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้  สังคมแห่งคุณภาพและแข่งขันได้  และสังคมที่ยั่งยืน พอเพียง มีความสมานฉันท์เอื้ออาทรต่อกัน

 


      "ซิโก้" เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง กล่าวเสริมด้วยว่า สิ่งสำคัญที่ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู ต้องช่วยกันค้นพบศักยภาพในตัวลูกหลานให้เร็วที่สุด ตัวตนของเด็กทุกคนมาจากความรักชอบและถนัด เช่นเดียวกับที่ค้นพบตัวเองตั้งแต่เด็กรู้สึกชอบกีฬาฟุตบอล จึงตั้งเป้าหมายชีวิตให้ชัดเจนก้าวไปถึงจุดที่ตั้งใจไว้ 


      ประสบการณ์ที่ผ่านมามุ่งมั่นก้าวสู่นักฟุตบอลเริ่มตั้งแต่ระดับโรงเรียน มหาวิทยาลัย กระทั่งได้เป็นนักเตะระดับเยาวชนทีมชาติไทย และขึ้นสู่ทีมชาติไทยได้ในที่สุด สามารถสร้างรายได้ตั้งแต่หลักพันบาทจนถึงหลักหลายแสนบาทจากการค้าแข้งกับสโมสรฟุตบอบทั้งในประเทศและต่างประเทศ เคยไปเล่นในลีกฟุตบอลในประเทศมาเลเซีย สามารถเลี้ยงชีพได้ในระดับดีมาก ถือเป็นความท้าทายใหม่ New Normal ที่ภาคการศึกษาต้องเพิ่มความสำคัญกับการจัดการศึกษาและสร้างมาตรฐานให้เกิดขึ้น

 


      ทางด้าน นายรณชัย ถมยาปริวัฒน์ เล่าถึงการค้นหาแววศิลปินในตัวเด็กว่า จุดเปลี่ยนชีวิตของเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างเช่นเดียวกัน ลักษณะนิสัย สิ่งแวดล้อม และการค้นพบตัวเองของเด็กจะนำไปสู่สิ่งที่ตนเองสัมผัสคลุกคลีจนเกิดบุคลิกในตัวตน เช่น คนในครอบครัว อย่างไรก็ตาม อยากให้ภาคการศึกษามีการจัดการเรียนการสอนที่มีความหลากหลายและไม่ปิดกั้นการเรียนรู้ที่นอกเหนือจากการเรียนในระบบและไม่ใช่แค่เรียนในห้องเรียนเท่านั้น 


      การออกแบบการเรียนรู้สำหรับเด็กจึงต้องสามารถรองรับความถนัดเฉพาะด้านของแต่ละคน ความสนุกจากการเรียนรู้จะนำไปสู่การค้นพบตัวตนที่แท้จริง การจัดการเรียนรู้จึงต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับเด็ก ปรับเป็น New Normal ที่ช่วยเสริมสมรรถนะและดึงศักยภาพของแต่คนออกมาให้ชัดเจนที่สุด 


      "ผมเสนอแนวทางยกระดับการศึกษา โดยใช้หลักอิทธิบาท ๔ ส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ จึงนำมาสู่การสร้างความสำเร็จในชีวิตได้" อ๊อด คีรีบูน กล่าว

 

    ท่านสามารถดูภาพบรรยากาศได้ที่นี่

       

 

            จัดทำโดย : สำนักสื่อสารองค์กร 
              ๒๒/๗/๒๕๖๓

image

ภารกิจ ผู้บริหาร ดูทั้งหมด

image

ข่าว สกศ. ดูทั้งหมด