สกศ. ประชุมคณะทำงานปรับปรุงแผนการศึกษาชาติ พลิกมุมคิดเน้นประเด็นพัฒนาต่อยอดยุทธศาสตร์
วันนี้ (๒๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมคณะทำงานปรับปรุงแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๗๙ ครั้งที่ ๓/๒๕๖๓ โดยมี รองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงาน และนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เป็นประธานคณะทำงาน ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น ๒ อาคาร ๒ สกศ.
คณะทำงานร่วมกันหารือแผนการการศึกษาแห่งชาติ ตามที่คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจ ด้านการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับปรับปรุง (พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๘๐) ได้ให้ข้อเสนอแนะจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิดการวางกรอบเฉพาะประเด็นท้าทายที่สามารถชี้ทิศทางการศึกษาและเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ไม่กำหนดยุทธศาสตร์เป็นตัวนำแผน เนื่องจากยุทธศาสตร์ถูกคลุมด้วยยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาแล้ว ฉะนั้นเนื้อหาควรมีลักษณะเป็นแผนแนวคิด (Concept Design) ยึดหลักตามแนวแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ ๑๑ การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต และประเด็นที่ ๑๒ การพัฒนาการเรียนรู้ ซึ่งรายละเอียดตัวชี้วัดไม่ควรระบุตัวชี้วัดย่อยที่มีจำนวนมาก เพื่อสามารถติดตามการดำเนินงานของหน่วยปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
ข้อสังเกตจากการหารือให้ความสำคัญกับการสังเคราะห์ข้อมูลภาพรวมเป็นแผนที่ความคิด (MIND MAP) ก่อนตัดสินใจกำหนดประเด็นสำคัญ และมีแนวคิดการเขียนแผนการศึกษาแห่งชาติ ๒ แนวทาง ดังนี้
แนวทางที่ ๑ ระบุประเด็นไล่ตามระดับชั้นการศึกษา เช่น แนวคิดการพัฒนาการศึกษาจาก Creativity and Critical Thinking (CCT) คือการสร้างทักษะให้ผู้เรียนมีวิธีคิดอย่างสร้างสรรค์ สามารถวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณเป็นฐานของการศึกษาทุกระดับ เพื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ ๒๑ หรือการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษาไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบ แต่เป็นการสะสมความรู้เพื่อ Up-Skill Re-Skill รวมถึงการสร้างทักษะการทำงานให้ผู้เรียน เนื่องจากทิศทางที่เปลี่ยนแปลงของการรับเข้าทำงานในอนาคตจะเน้นรับเฉพาะผู้ที่มีทักษะการทำงาน ไม่ใช่วุฒิการศึกษาอีกต่อไป
แนวทางที่ ๒ ระบุประเด็นเพิ่มเติมจากระดับชั้นการศึกษา โอกาสและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คุณภาพและประสิทธิภาพการจัดการศึกษา รวมถึงการประเด็นที่ศึกษาจากกระแสสังคมในปัจจุบัน เช่น ภาวะปกติใหม่ (New Normal), การปรับตัวต่อเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีตามยุคสมัย (Disruptive Technology) เป็นต้น
ทั้งนี้ คณะทำงานวางแผนนำข้อเสนอแนะมาปรับปรุงก่อนนัดหารือร่วมกันอีกครั้ง และนำเสนอที่ประชุมอนุฯ กกส. ด้านการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับปรับปรุง (พ.ศ. ๒๕๖๓-๒๕๘๐) พิจารณาต่อไป