สกศ. จัดประชุมคณะอนุฯปฏิรูปกลไกและระบบครู ครั้งที่ ๒/๒๕๖๓ มุ่งพัฒนาครูให้ตรงกับที่ผู้เรียนต้องการ
วันนี้ (๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๓) ศาสตราจารย์กิตติคุณชนิตา รักษ์พลเมือง เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา ครั้งที่ ๒/๒๕๖๓ มีรองเลขาธิการสภาการศึกษา (ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์) ร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมสิปปนนท์ เกตุทัต ชั้น ๒ อาคาร ๒ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
ที่ประชุมได้ร่วมรับฟังและพิจารณาข้อเสนอการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต การคัดกรอง การพัฒนาและการบริหารงานบุคคล ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ที่มี ศาสตราจารย์พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ ประธานคณะที่ ๒ คณะอนุกรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจเพื่อการจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งประกอบด้วย ๑. การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตครู อาจารย์ และบุคคลาการทางการศึกษา ซึ่งต้องพลิกโฉมคุณภาพการผลิต แก้ปัญหาปริมาณครูบางสาขาไม่เพียงพอต่อความต้องการโดยการเพิ่มปริมาณการผลิตครูด้วยระบบปิด และจัดตั้งหน่วยงานเพื่อกำกับปริมาณการผลิตครูโดยตรง ๒. การปฏิรูปกลไกและระบบการคัดกรองครู อาจารย์ และบุคลาการทางการศึกษา เน้นปรับปรุงวิธีการสอบแข่งขัน เกณฑ์การประเมิน และวิธีการคัดเลือกคนเก่ง โดยการคัดกรอง ๓ ชั้น คือ ผลการทดสอบทางวิชาการ คุณลักษณะจิตวิญญาณ และตามจุดเน้นของสถาบัน ๓. การปฏิรูปกลไกและระบบการพัฒนาครู อาจารย์ และบุคลาการทางการศึกษา ให้มีภาวะผู้นำ ปรับปรุงหลักสูตรการพัฒนาให้มีความชำนาญตามความต้องการจำเป็นใหม่ๆ และพัฒนาผู้เรียนในมีชีวิตที่มีคุณค่า ๔. ปฏิรูปกลไกและระบบการบริหารงานบุคคล ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการคึกษา มีการบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการพัฒนาการบริการงานบุคคลและการติดตามประเมินผลเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และ ๕. การปฏิรูปองค์กรวิชาชีพครูและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับคุณภาพวิชาชีพครู และจรรยาบรรณวิชาชีพ ให้ตอบโจทย์ในการพัฒนาประเทศยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันหารืออย่างกว้างขวางเกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าว โดยเน้นการพัฒนาครูให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้เรียน สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณค่า สนับสนุนการพัฒนาทักษะด้านอารมณ์ (Soft Skill) กรอบความคิดหรือทัศนคติแบบยืดหยุ่น (Growth Mindset) และการมองคนอื่นสำคัญไม่น้อยกว่าตัวเรา (Outward Mindset) อีกทั้งในการคัดเลือกและพัฒนาครู อาจารย์ และบุคลาการทางการศึกษา ให้หลีกเลี่ยงช่วงสถานศึกษาเปิดเรียนเพื่อลดความเสียเปรียบและการขาดแคลนครูในโรงเรียนเอกชน นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้วางแผนแนวทางการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา และการดำเนินโครงการ/กิจกรรมนำร่องการพัฒนาวิชาชีพครู ในประเด็นที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อการเปลี่ยนโฉมบทบาท “ครู” ให้เป็นครูยุคใหม่